ค่าเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องสกุลหลักจากการขายดอลลาร์ทำกำไร

ค่าเงินบาท เงินบาท ตลาดหุ้น
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 31.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/2) ที่ระดับ 31.89/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบสำหรับช่วงคืนวาน (26/2) อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ออกมาเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่สหรัฐเดือนมกราคมที่ 764,000 หลัง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 7.9 ตัวเลขทั้งสองออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้วิจารณ์สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่งานสัมมนาในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา โดยนางเยลเลนกล่าวว่า การระบาดของ COVID-19 นั้นอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรป

นางเยลเลนกล่าวว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกสะดุด เนื่องจากโรงงานในประเทศจีนหลายโรงงานต้องหยุดชะงัก นอกจากนั้นยังส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวลดลงอีกด้วย ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นายเยลเลนพูดว่าถือว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำ แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าของประเทศอื่น ๆ ที่ทยอยลดกันไปตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งนางเยลเลนกล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนั้นน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เพียงพอ ทางสำนักประธานาธิบดีอาจจะต้องใช้นโยบายการคลังมาสนับสนุน

ในส่วนของค่าบาทวันนี้ปรับตัวแข็งค่าในช่วงบ่ายหลังจากตลาดยุโรปทยอยเปิดทำการ ทั้งนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินสกุลหลักและค่าเงินในภูมิภาค โดยสาเหตุอาจมาจากการขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อทำกำไรหลังจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ราว 99 มาหลายวันและไม่ผ่านกรอบบนที่ 100 ในส่วนของสถานการณ์ COVID-19 ในไทยเริ่มรุนแรงขึ้น มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 40 ราย อย่างไรก็ตามยังไม่พบผู้เสียชีวิตในไทย ช่วงบ่ายวันนี้ (27/2) ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว หลังจากตลาดฝั่งยุโรปเปิดทำการ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.64-31.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/2) ที่ระดับ 1.0876/78 ดอลลาร์สหรัฐ ตลาดกำลังจับตาการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2563 ทางด้านสหภาพยุโรปนั้น นายไมเคิล บาร์เนียร์ หัวหน้าผู้เจรจาข้อตกลง Brexit ได้ออกมากล่าวว่าทางสหภาพยุโรปจะไม่อ่อนข้อให้สหราชอาณาจักรและจะไม่เสนอสัญญาการค้าแบบแคนาดาให้สหราชอาณาจักร ส่วนทางด้านสหราชอาณาจักรนั้น สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ส เปิดเผยว่าสหราชอาณาจักรก็จะไม่ยอมอ่อนข้อให้สหภาพยุโรปเช่นกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0898-1.0939 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0935/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/2) ที่ระดับ 110.34/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/2) ที่ระดับ 110.41/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนแข็งค่าต่อเนื่องในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังคงความรุนแรงต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน โดยล่าสุดสถิติผู้เสียชีวิตทั่วโลกวันนี้ (27/2) อยู่ที่ 2,771 ราย และผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 81,318 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.19-110.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.20/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรป เดือนกุมภาพันธ์ (27/2), ตัวเลขประกาศครั้งแรกของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสหรัฐ ไตรมาส 4/2562 (27/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์สหรัฐ (27/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (28/2), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (28/2), ดุลการค้าไทยเดือนมกราคม (28/2), ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนไทย เดือนมกราคม (28/2), ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนไทย เดือนมกราคม (28/2), ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนไทย เดือนมกราคม (28/2), ดัชนีการว่างงานเยอรมัน เดือนกุมภาพันธ์ (28/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.00/-1.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.00/+7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ