ค่าเงินบาทแข็งค่าที่ 31.38 บ./ดอลลาร์ หลังเฟดลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (4 มี.ค.) ที่ระดับ 31.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์ โดยกรอบเงินบาทวันนี้อยู่ระหว่าง 31.25-31.45 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดพบกับเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่เมื่อธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด มีการประชุมฉุกเฉินครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 และมีมติ “ลดอัตราดอกเบี้ย 0.5%” ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐให้เหตุผลว่าโควิด-19 คือความเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจสหรัฐ และแม้การลดดอกเบี้ยจะไม่ช่วยลดจำนวนผู้ป่วย แต่สามารถลดความตึงเครียดในฝั่งการเงินและเศรษฐกิจลงได้

แต่ดูเหมือนตลาดการเงินสหรัฐจะไม่เชื่อแบบนั้น ล่าสุดดัชนีตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวลงทันทีหลังจากแถลงการณ์โดยปิดที่ระดับ -2.8% เป็นการย้ำอีกครั้งว่าการลดดอกเบี้ยไม่สามารถ ช่วยบรรเทาความกังวลในตลาดการเงินลงได้

พร้อมกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐอายุ 10 ปีที่ร่วงแตะระดับ 0.97% หรือ -0.18% จากวันก่อน ขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดจากบอนด์ยีลด์ที่ลดลงน้อยกว่าขนาดการลดดอกเบี้ยว่าประสิทธิภาพและขอบเขตของนโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ต่ำมากเช่นกัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่นปรับแข็งค่าต่ออย่างรวดเร็วทันทีที่ 107.16 เยนต่อดอลลาร์ต่ำที่สุดในรอบห้าเดือน ขณะเดียวกันราคาทองคำ ก็พุ่งขึ้นมาที่ระดับ 1643 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (+3.0%) ใกล้เคียงจุดสูงสุดของปีนี้และห่างจากระดับสูงสุดตลอดกาลไม่ถึง 10%

ดร.จิติพล กล่าวว่า สำหรับเงินบาทและสกุลเงินเอเชีย วันนี้ต้องติดตามทิศทางของตลาดทุนอย่างใกล้ชิด โดยรวมควรเห็นสกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นไม่มาก เพราะแม้วันนี้จะเจอแรงต้านจากภาพตลาดการเงินสหรัฐที่ผันผวน ผสมกับอารมณ์ของนักลงทุนที่กลัวความเสี่ยง แต่ภาพรวมการอ่อนค่าของดอลลาร์ บวกกับโอกาสที่ธนาคารกลางทั่วทั้งเอเชียจะสามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อช่วยหนุนตลาด น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนทั้งกำลังซื้อ และลดต้นทุนทางการเงินของเศรษฐกิจเอเชียลงด้วย

“ด้านความเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวันก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะทรงตัวได้ แต่ก็แกว่งตัวในกรอบกว้าง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าสภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับต่ำ จึงต้องระวังการปรับตัวขึ้นลงเร็วระหว่างวัน ขณะที่โดยรวมโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยตามเฟด ก็มีเพิ่มมากขึ้น มากอย่างมีนัยยะสำคัญ ทันที” ดร.จิติพลกล่าว