คลังล้วงทุกเก๊ะ5แสนล้าน แจก5พันบาทกู้วิกฤตโควิด

คลังย้ำมีเงินแน่ จ่ายเยียวยา 5,000 บาท ผู้มีรายได้น้อย 3 เดือน เปิดกฎหมายงัดสารพัดแนวทาง หาเงินกู้วิกฤต “โควิด-19” งบฯกลางཻ เต็มเพดาน ต้องเกลี่ยงบฯ 10% ทุกกระทรวง ออก พ.ร.บ.ดึงเงินเข้างบฯกลาง คาดใช้วงเงินรวมเกือบ 5 แสนล้าน ชง พ.ร.ก.กู้เงินเข้า ครม.เร็วสุด 7 เม.ย.นี้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การใช้งบประมาณเพื่อดูแลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น เนื่องจากงบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่มีวงเงิน 9.6 หมื่นล้านบาท ถูกใช้ไปแล้วเกือบ 9.4 หมื่นล้านบาท ทั้งการดูแลที่เกี่ยวข้องกับโควิดและแก้ปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมา ปัจจุบันเหลือแค่กว่า 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะหาเงินจากตรงไหนมาใช้ต่อไป

“ตอนนี้งบฯกลาง 9.6 หมื่นล้านบาท จ่ายไปเกือบ 9.4 หมื่นล้านบาทแล้ว เฉพาะที่จ่ายเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ก็ 4.5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

จี้ทุกส่วนราชการเกลี่ย 10%

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 ให้ทุกส่วนราชการไปปรับแผนการใช้งบฯ และโอนงบฯส่วนที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เกลี่ยมาใช้ในการดูแลสถานการณ์โควิด หน่วยงานละ 10% อาทิ หน่วยงานที่มีโรงพยาบาลในสังกัด ก็เกลี่ยเงินไปช่วยโรงพยาบาลได้เลย หรือหน่วยงานอื่น ๆ ก็สามารถเกลี่ยไปใช้จ้างงานได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงงบฯลงทุนด้วย หากยังไม่มีการลงนามก่อหนี้ผูกพันก็ให้เกลี่ย 10% ไปทำโครงการขนาดเล็กลง เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

ขู่งัด กม.โอนดึงเงินเข้างบฯกลาง

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า หากส่วนราชการรายงานการเกลี่ยงบฯ 10% แล้ว ยังไม่คืบหน้า สำนักงบฯจะพิจารณาเรื่องการออกพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณ มาเป็นงบฯกลาง กระบวนการอาจจะต้องใช้เวลา 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง เพราะต้องเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ

“ถ้ายังไม่ทำอะไรกัน เราก็จะเสนอออก พ.ร.บ.โอนฯ แต่ก่อนจะออกได้ก็ต้องสำรวจว่า รายการไหนโอนได้ หรือรายการไหนโอนไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะผิดรัฐธรรมนูญ อย่างพวกรายจ่ายประเภทเหมาหัว เช่น เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ เป็นต้น แบบนั้นคงไปโอนไม่ได้ ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายให้ชัดเจน เพราะเวลามีปัญหา เราต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่พวกนักกฎหมายที่ออกมาพูดกัน” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

แจงงบฯกลางกว่า 5 แสนล้าน

สำหรับงบฯกลางทั้งหมดในปีงบประมาณ 2563 ที่มีกว่า 5.18 แสนล้านบาทนั้น นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า รายการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจ่ายเงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยต่าง ๆ เงินสมทบ เงินเบี้ยหวัดบำนาญ และเงินเลื่อนขั้นเงินเดือน มีที่อยู่ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพียง 9.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

“งบฯกลางกว่า 5 แสนล้านบาทที่พูดกัน เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินเดือนก็ตกกว่า 4 แสนล้านบาทไปแล้ว” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

ออก พ.ร.ก.กู้เงินขึ้นกับคลัง

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวด้วยว่า หากงบฯกลางไม่เพียงพอก็อาจจะต้องพิจารณาถึงการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอำนาจของทางกระทรวงการคลัง ส่วนการปรับงบประมาณปี 2564 ที่อยู่ระหว่างจัดทำนั้น เนื่องจากไม่ได้มีตั้งรายการเกี่ยวกับการดูแลผลกระทบโควิด-19 ไว้ตั้งแต่แรก แต่การปรับก็สามารถทำได้ในขั้นกรรมาธิการอยู่แล้ว

งบฯมีแน่แห่ขอ 21.5 ล้านคน

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างเตรียมออกมาตรการดูแลผลกระทบจากโควิด-19 ชุดที่ 3 สำหรับการจัดหางบประมาณนั้นยังไม่อยากให้ไปตีความว่าจะต้องใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่ง

“ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาทางเลือก และยืนยันว่าไม่มีแนวคิดจะกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่อย่างใด เนื่องจากไทยยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง จึงขอให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงการคลังสามารถจัดหาแหล่งเงินได้อย่างเพียงพอ และไม่ได้ถังแตก” รมว.คลังกล่าว

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอ ครม. เพื่อของบประมาณเพิ่มเติม สำหรับนำมาจ่ายให้กลุ่มคนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่ ครม.อนุมัติไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท หรือคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน

“ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายเงิน และรัฐจะจ่ายเงินให้กับทุกคนที่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากมีแหล่งเงินสำรองอีกหลายแห่ง และระดับหนี้สาธารณะของเรายังอยู่ที่ประมาณ 42% ยังมีช่องว่างให้สามารถขอกู้ได้เต็มเพดานได้” นายลวรณกล่าว

ทั้งนี้ ยอดผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์ “www.เราไม่ทิ้งกัน.com” จนถึงวันที่ 31 มี.ค. (ณ 14.00 น.) มีทั้งสิ้น 21.5 ล้านคน

ชี้งัด พ.ร.ก.กู้เงินลำดับสุดท้าย

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินจะต้องรอพิจารณาว่า รัฐบาลจะขอใช้เงินจำนวนเท่าใด และเงินที่จะใช้จะต้องมาจากที่ใดบ้าง อย่างไรก็ดี คาดว่าชุดมาตรการดูแลผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 3 ขนาดวงเงินอาจจะไม่ได้ใหญ่มาก จนกระทั่งจะต้องขอกู้เต็มเพดานกรอบความยั่งยืนหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ถึง 60%

“ต้องรอพิจารณามาตรการภาพรวมก่อน และรอดูว่าเงินที่จะนำมาใช้มาจากส่วนไหนได้บ้าง ซึ่งชุดมาตรการที่จะออกมาคงไม่ได้ใช้งบประมาณจากการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมาจากหลายส่วน คาดว่าจะมาจากการออก พ.ร.บ.โอนและปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณปี 2563 ก่อน ตลอดจนสภาพคล่องของแต่ละหน่วยงาน จากนั้นจึงเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน” นางแพตริเซียกล่าว

ชงขอไฟเขียว พ.ร.ก.กู้ 7 เม.ย.

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน คาดว่าจะมีวงเงินไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเคยเสนอปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ โดยกู้เงินเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาทไปแล้ว แต่เรื่องตีกลับมาปรับแผนใหม่ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบรุนแรงมากขึ้น ซึ่งวงเงินที่จะออก พ.ร.ก.กู้นั้นคงต้องขึ้นกับการประเมินผลกระทบ และมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เงินอย่างชัดเจน โดยสามารถกู้ได้ทั้งในประเทศ

“การออก พ.ร.ก.กู้เงิน คงออกแน่ ๆ โดยจะครอบคลุมการดูแลผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาจจะเข้า ครม. วันที่ 7 เม.ย.นี้ ในกรณีที่ทำเร็วที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การคัดกรองคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนนั้น กระทรวงการคลังมีวิธีตรวจสอบ

“ภาครัฐมีวิธีตรวจสอบคุณสมบัติ โดยคนที่จะได้รับเงินจะอยู่นอกระบบประกันสังคม ซึ่งมีไม่ถึง 10 ล้านคนแน่นอน แถมต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ค้าขาย เป็นต้น ถ้าเป็นแม่บ้านคงไม่ได้ ส่วนคนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39 กับมาตรา 40 ที่ไม่มีนายจ้าง ก็ถือว่าเป็นแรงงานอิสระ พวกนี้ก็ชัดเจนว่า มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า มาตรการเยียวยาด้วยงบประมาณจากทุกระบบ ทั้งเกลี่ยและโยกงบประมาณ 2563-2563 จำนวน 10% จากทุกกระทรวง และออก พ.ร.ก.กู้เงิน คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติเห็นชอบทบทวนมติ ครม.เกี่ยวกับมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นเป็น 9 ล้านคน จากมติเดิมที่ 3 ล้านคน ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานอีกจำนวน 70,676 คน

จะส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเป็น 1.35 แสนล้านบาท จากเดิม 4.5 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นกระทรวงการคลังขอนำงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรไว้แล้ว มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรก ในเดือน เม.ย. 2563 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบไปพลางก่อน ส่วนในเดือนต่อ ๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอ ครม.พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ ครม.พิจารณาต่อไป