ธปท.เพิ่มดีกรีอุ้มบอนด์ “TMB” เร่งคืนเงิน “ปิดกอง”

เงิน

สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย (TMBAM Eastspring) ประกาศเลิกกองทุนรวมตราสารหนี้รวดเดียว 4 กองทุน เนื่องจากเผชิญแรงเทขายอย่างรุนแรงจากผู้ถือหน่วยลงทุน (panic sell) จนเกิดปัญหาการบริหารจัดการสภาพคล่องให้เพียงพอกับความต้องการขาย

ล่าสุด “บุญชัย เกียรติธนาวิทย์” รักษาการกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย ได้แถลงว่า บริษัทมีแนวทางการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ดังนี้ 1.เร่งพิจารณาตราสารหนี้ที่ใกล้ครบอายุในกองทุน เพื่อนำสินทรัพย์ดังกล่าวมาจ่ายคืนผู้ถือหน่วย โดยจ่ายคืนเมื่อวันที่ 30 มี.ค.เป็นวันแรก และคาดว่าจะสามารถทยอยจัดสรรเงินคืนให้ลูกค้าทั้ง 4 กองทุน เริ่มต้นสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรก ในกรอบสูงสุด 10% จากนั้นทยอยคืนในทุก ๆ 2 สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าใน 1 เดือนผู้ถือหน่วยจะได้รับเงินคืน ในสัดส่วนสูงสุด 20% ตามกระแสเงินสดที่จะเข้ามาจากสินทรัพย์ที่ครบอายุ

โดยระหว่างนี้ บริษัทได้ศึกษาวิธีการที่จะเพิ่มกลไกให้กองทุนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในการจัดสรรเงินลงทุนคืน เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดสรรเงินคืนให้ได้ทั้งหมดหรือให้ได้มากที่สุด ภายในระยะเวลา 3 เดือน ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหากไม่เอื้ออำนวย บลจ.อาจขอขยายระยะเวลาต่อ

“หลังจากปิดกอง พบว่าช่วยลดแรงกดดันต่อราคาและมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากตลาดการเงินกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ เราคาดว่าจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องมาจ่ายคืนให้ผู้ถือหน่วยได้มากกว่าประมาณการขั้นต่ำที่ประเมินไว้ โดยบริษัทมีความตั้งใจจ่ายเงินคืนให้เท่ากับหรือมากกว่า NAV ณ วันประกาศเลิกกองทุน ซึ่งจะต้องดูภาวะตลาดช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ด้วย”

ทั้งนี้ NAV ณ วันที่ 25 มี.ค. 63 กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน อยู่ที่ 25,191 ล้านบาท กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ 38,234 ล้านบาท กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส 78,433 ล้านบาท และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล 10,681 ล้านบาท ลดลงจาก NAV ณ วันที่ 13 มี.ค. 63 อยู่ที่ 73,039 ล้านบาท, 67,212 ล้านบาท, 99,295 ล้านบาท และ 14,553 ล้านบาทตามลำดับ

2.ธนาคารทหารไทย (TMB) ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ให้ความช่วยเหลือโดยออกสินเชื่อระยะสั้นอัตราดอกเบี้ยพิเศษ แม้อาจไม่ครอบคลุมมูลค่าสินทรัพย์ของผู้ถือหน่วย 100% แต่อย่างน้อยจะสามารถให้สภาพคล่องแก่ผู้ลงทุนได้

“ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบีได้ออกโปรแกรมช่วยเหลือในรูปแบบสินเชื่ออัตราพิเศษ สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนทั้ง 4 กองทุน ครอบคลุมทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนกลุ่มลูกค้าธุรกิจทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าทีเอ็มบีหรือไม่ใช่ลูกค้าปัจจุบันของทีเอ็มบีก็ตาม

โดยรายย่อยให้วงเงินสูงสุดถึง 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยพิเศษที่ 0.17% ต่อเดือน สำหรับวงเงิน 1 ล้านบาทแรก และ 0.25% ต่อเดือน สำหรับวงเงินเกิน 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจให้วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.17% ต่อเดือน สำหรับวงเงิน 1 ล้านบาทแรก และ 0.25% ต่อเดือน สำหรับวงเงินเกิน 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท และดอกเบี้ย 0.33% ต่อเดือน สำหรับวงเงินเกิน 5 ล้านบาท ถึง 50 ล้านบาท

ซึ่งจะพิจารณาวงเงินให้สินเชื่อจาก NAV คงเหลือของลูกค้า (NAV ของลูกค้า ณ วันประกาศปิดกองทุนหักออกด้วยยอดเงินที่ได้รับคืนจาก บลจ.) และปรับด้วยอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (loan-to-value)

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (MFLF) ให้ครอบคลุมกองทุนรวมตลาดเงิน (MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไปที่เปิดให้ผู้ลงทุนซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ (daily FI) ทุกกองทุน ครอบคลุมกองทุนที่ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้สกุลเงินบาทหรือสกุลต่างประเทศ investment grade ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป และเพิ่มประเภทสินทรัพย์หลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร (Repo) กับ ธปท. ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ภาคเอกชนสกุลเงินบาท ที่มีเรตติ้งตั้งแต่ BBB- ขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง

หวังว่าการตัดสินใจปิด 4 กองทุนของ TMBAM Eastspring และมาตรการที่ครอบคลุมมากขึ้นของ ธปท. จะช่วยหยุด “panic sell” ได้ก่อนจะลุกลามหนักไปมากกว่านี้