รับมือโควิด-19 รัฐต้องทุ่มหมดหน้าตัก เยียวยาทุกภาคส่วนที่ยากลำบากยิ่งกว่าวิกฤตครั้งใด

BANGKOK, CENTRAL THAILAND, THAILAND - 2018/01/01: Panoramic aerial view across the Chao Phraya River on the Royal Orchid Sheraton Hotel and the high-rise buildings of downtown. (Photo by Frank Bienewald/LightRocket via Getty Images)

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะไม่น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง มีผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วโลกแล้วกกว่า 1 ล้านคน ผู้เสียชีวิตกว่า 5 หมื่นคน ขณะที่ประเทศไทย ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยเกือบทุกวัน

ไม่ว่ามองไปทางไหน ความหวาดวิตกยังปกคลุมไปทั่ว

เพราะไวรัสโควิด-19 ไม่ต่างจากศัตรูที่มองไม่เห็น มีอัตราการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจติดเชื้อโดยไม่ทันรู้ตัว

นั่นทำให้ภารกิจหลัก ๆ ของรัฐบาลขณะนี้ พยายามเดินควบคู่ไปใน 2 แนวทาง

ประการแรก ตัดวงจร และหยุดการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ social distancing พยายามให้คนอยู่ห่าง ๆ กันเอาไว้ ขอความร่วมมือให้ work from home ทำงานที่บ้าน ปิดศูนย์การค้า ร้านอาหาร

สนามกีฬา สถานที่ที่คนไปรวมตัวกัน ล่าสุดคือเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านยามค่ำคืน รวมไปถึงยุติการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อตัดวงจรให้ได้

สอง นำมาตรการต่าง ๆ มารองรับและเยียวยาเศรษฐกิจที่กำลังซวนเซ

สาหัสสุด ๆ คือ อุตสาหกรรมบริการ การเดินทาง

ท่องเที่ยว เส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย ยิ่งนานวัน ผลกระทบยิ่งไหลลึก เริ่มกังวลกันด้วยซ้ำว่า ศึกใหญ่ครั้งนี้ มีโอกาสเลวร้ายกว่าปี 2540

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าถึงสิ้นเดือนเมษายนยังไม่มีอะไรดีขึ้น

ต้องต่อเวลาปิดห้าง ปิดธุรกิจร้านค้าออกไป NPL คงบานสะพรั่ง

แน่นอนว่าความอึดแต่ละคนไม่เท่ากัน

เป็นธรรมดาที่ธุรกิจใหญ่ ๆ สายป่านย่อมยาวกว่ารายย่อย ๆ

อ้างอิงข้อมูลจาก คุณเรืองโรจน์ (กระทิง) พูนผล ประธาน KBTG แจกแจงตัวเลขเงินสำรองของบรรดาเอสเอ็มอีในสหรัฐว่า มีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 27 วัน ถ้าเป็น personal service อยู่ที่ 21 วัน ร้านค้าปลีก 19 วัน แต่ถ้าเป็นร้านอาหารจะสายป่านสั้นกว่าคนอื่น ๆ คือ 16 วัน…ในไทยนั้นก็น่าจะต่างกันไม่มากในส่วนของค่าเฉลี่ย

ความจริงอีกสิ่งหนึ่ง คือ ภูมิคุ้มกันของเศรษฐกิจไทยตกต่ำก่อนโควิด-19 เสียอีก ทำให้ได้รับผลกระทบมากกว่าวิกฤตก่อน ๆ

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และความอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.4% อุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศอ่อนแอลง มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจเพียง 60% จากปัญหาการชะลออย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน และภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 79% ของ GDP

การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล ในปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 40 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาลกว่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของ GDP

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายครั้ง ภาคการเกษตรมีความสำคัญช่วยรองรับการไหลกลับของแรงงานจากการถูกเลิกจ้าง แต่ปัจจุบันภาคการเกษตรลดลงจากเดิม ไม่สามารถรองรับได้เหมือนแต่ก่อน

KKP Research ระบุด้วยว่า ท่ามกลางการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศต่าง ๆ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องยกระดับความสำคัญของการบรรเทาผลกระทบ

ต่อธุรกิจและประชาชนที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ให้สูงมากขึ้นไปอีก

สรุปคือ ต้องทุ่มให้ “หมดหน้าตัก” กว่านี้ เพื่อเยียวยาทุกภาคส่วนที่ยากลำบากยิ่งกว่าวิกฤตครั้งใด ๆ