เบื้องลึกแบงก์ลดดอกเบี้ยกู้ พร้อมใจหั่น 0.40% อุ้มลูกหนี้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติมหลายมาตรการด้วยกัน โดยหนึ่งในนั้น “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ได้ประกาศว่า จะมีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.46% ของฐานเงินฝาก เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี (ปี 2563-2564) โดยหวังว่าต้นทุนที่ลดลงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงต่าง ๆ ลง “โดยทันที”

ซึ่งถัดมาเพียง 2 วัน ธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมใจกันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบ “ยกแผง” ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลงในอัตรา 0.40% เท่ากันทุกแบงก์ เพื่อตอบสนองนโยบาย “แบงก์ชาติ”

ลดส่ง FIDF แลกหั่นดอกเบี้ยกู้

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าวว่า หลัง ธปท.ประกาศลดเงินนำส่ง FIDF ก็ได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอัตรา 0.40% จึงทำให้เห็นการส่งผ่านนโยบายอย่างรวดเร็ว โดยแบงก์พร้อมใจกันประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ยกแผง มีผลตั้งแต่ 10 เม.ย. 2563 เป็นต้น

ไปอุ้มลูกหนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ทั้ง MLR, MOR และ MRR ถือว่าเป็นการส่งผ่านนโยบายได้เร็ว โดยประเมินคร่าว ๆ จะคิดเป็นเม็ดเงินราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ต้นทุนนำส่ง FIDF ที่ลดลง 0.23% จะตกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากฐานสินเชื่อมีขนาดเล็กกว่าฐานเงินฝาก ดังนั้นการลดดอกเบี้ยระดับดังกล่าวจึงออกมาใกล้เคียงกับภาระการนำส่งเงินที่ลดลงไป

“การลดดอกเบี้ย 0.40% จะมีผลต่อผู้กู้ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (floating rate) ที่มีสัดส่วนราว 70% ของระบบ จะได้รับการลดดอกเบี้ยลงทันที ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินราว 3-3.5 หมื่นล้านบาท”

เมื่อมองในแง่ผลประกอบการแบงก์ “ธัญญลักษณ์” กล่าวว่า แม้ว่าธนาคารจะลดภาระจาก FIDF ไปได้บางส่วน แต่ก็ต้องปรับดอกเบี้ยลง 0.40% รวมถึงมีมาตรการพักชำระหนี้ให้ลูกค้า น่าจะกระทบรายได้ดอกเบี้ยรับ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของธนาคารจะแบ่งเป็นรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (ค่าธรรมเนียม) ประมาณ 40% และรายได้ดอกเบี้ย 60% ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยจะมาจากสินเชื่อประมาณ 50% ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 ระบบธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากดอกเบี้ยทั้งสิ้น 5.5 แสนล้านบาท จากฐานสินเชื่ออยู่ที่ 12.7 ล้านล้านบาท และฐานเงินฝาก 13.2 ล้านล้านบาท

“จงรัก รัตนเพียร” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เงินนำส่ง FIDF ถือเป็นต้นทุนหลักและสำคัญของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเมื่อ ธปท.ปรับลดให้นำส่งเพียง 0.23% ก็เป็นการสะท้อนว่า ธปท.ต้องการให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงในทันที ทั้งนี้ สำหรับธนาคารกสิกรไทยจะมีต้นทุน หรือภาระเงินนำส่ง FIDF เฉลี่ยอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากฐานเงินฝากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท “การลดเงินนำส่ง 2 ปี จะช่วยธนาคารลดภาระไป 2 หมื่นล้านบาท ก็ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากพอสมควร”

รอบนี้ลูกหนี้ทุกกลุ่มได้อานิสงส์

ฟาก “นริศ สถาเดชาผล” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า การลดดอกเบี้ย MRR, MOR และ MLR รอบนี้เป็นการช่วยเหลือทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และธุรกิจรายใหญ่

โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ต่อเนื่อง หลังจากได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไป 6 เดือนแล้ว พ้นจากนั้นไปก็มีภาระดอกเบี้ยที่ต่ำลงด้วย โดยการลดดอกเบี้ยยกแผงจะทำให้ดอกเบี้ยจ่ายของระบบแบงก์หายไปราว 5.25 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาระการนำส่ง FIDF ที่ลดลง 0.23% ตกประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้นการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ระบบธนาคารจึงรับภาระส่วนต่างอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท

“ลดดอกเบี้ยรอบนี้เป็นการช่วยทุกกลุ่ม รายใหญ่ก็ได้ด้วย จากที่ผ่านมา MLR ไม่เคยลดเลย รอบนี้ลดด้วย ซึ่งก็จะมีสภาพคล่องมากขึ้น ถ้ารายใหญ่อยู่ได้ ซัพพลายเออร์ก็อยู่ได้ด้วย”

ตุนกระสุนสำรองรับมือฉุกเฉิน”

พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การประกาศลดเงินนำส่ง FIDF ของ ธปท.เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว ได้แก่ 1.ช่วยลดภาระธนาคารพาณิชย์ไปได้มากกว่าครึ่ง ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงลงได้มากกว่า 0.25% จากปกติจะปรับลดเฉลี่ยแค่ 0.125% 2.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่จำเป็นต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากเดิมคาดการณ์กันว่า กนง.อาจจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยสามารถเก็บไว้เป็นกระสุนได้ และ 3.ต้นทุนที่ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งเงิน FIDF ปีละ 6.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.6% ของ GDP การลดเงินนำส่ง 0.23% ทำให้ภาระของธนาคารหายไปประมาณ 50% แสดงว่าธนาคารจะมีเงินเหลือไปหมุนเวียนในระบบราว 3.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% ของ GDP

“การลดนำส่ง FIDF ถือเป็นเครื่องมือเนียน ๆ ของ ธปท. เพราะจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ policy space โดยไม่ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และการส่งผ่านได้ผลเร็วกว่า ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อาจจะเลื่อนออกไปอีก 2 ปี จากเดิมจะชำระหมดในอีก 15 ปี เพราะปัจจุบันยอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท ก็ไม่เป็นไร เพราะช่วงนี้ไม่มีใครคิดเรื่องนี้ เพราะต้องช่วยเหลือลูกค้าก่อนเป็นสำคัญ”


เนื่องจากยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อใด ดังนั้นการเตรียมกระสุนไว้ให้เพียงพอรับมือ จึงเป็นเรื่องสำคัญ