“เมืองไทยลิสซิ่ง” เตรียมถกออมสินขอวงเงิน 6.2 พันล้าน ลุยปล่อยกู้ซอฟต์โลน เพิ่มสภาพคล่องลูกหนี้

“เมืองไทยลิสซิ่ง” เตรียมถกรายละเอียดแบงก์ออมสิน ขอวงเงิน 6,200 ล้านบาท ลุยปล่อยกู้ซอฟต์โลน เพิ่มสภาพคล่องต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้ ยัน ธปท.ขอความร่วมมือลดดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลลงเหลือ 22% กระทบรายรับดอกเบี้ยลดลงเพียง 1% ไม่กระทบกำไรสุทธิ

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ผู้นำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และนาโนไฟแนนซ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการปล่อยซอฟต์โลนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ ควบคู่ไปกับการยืดเวลาชำระหนี้ให้กับลูกค้า ตามเงื่อนไขของ ธปท. ซึ่งได้มอบนโยบายผ่านธนาคารออมสิน โดยในช่วงก่อนหน้า MTC ได้ยื่นขอสินเชื่อไปที่ธนาคารออมสิน เรียบร้อยแล้ว โดยขอใช้วงเงินราว 6,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของพอร์ตลูกหนี้คงค้าง

“คาดว่าเร็วๆนี้ คงจะได้เข้าไปหารือร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อวางกรอบและเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ เพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ ซึ่งธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับ MTC ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลาการใช้วงเงิน 2 ปี เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้ และส่งผลดีกับพอร์ตสินเชื่อของ MTC อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกด้วย” นายชูชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตามขอชี้อแจงว่าบริษัทแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non bank) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิมกำหนดเพดานที่ 28% เหลือ 22% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจาก MTC คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ในระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และอยู่ในระดับต่ำกว่าเพดานที่ธปท.กำหนด โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 20-21% ต่อปี เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าที่ ธปท.ขอความร่วมมือให้ลดลงมาอยู่ที่ 22%

ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ Personal Loan ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน บริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 25% ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่ทางการกำหนดเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ธปท.ขอความร่วมมือให้ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 22% หมายความว่า ดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าต้องปรับลดลง 3% ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับ MTC มากนัก เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล มีสัดส่วนเพียง 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวม จึงทำให้ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยลงมา ทำให้รายรับลดลง 1% และแทบไม่มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิเลย

“ผมขอยืนยันว่า การที่เราประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน ส่งผลกระทบกับรายได้และกำไรน้อยมาก เนื่องจากกำไรที่หายไปแทบจะไม่ถึง 1%” นายชูชาติกล่าว