แบงก์ไทย ลุยภูมิภาคเต็มสูบ “กสิกร-SCB” ชิงตลาดเมียนมา

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรากฏข่าว 2 แบงก์ใหญ่เข้าไปรุกธุรกิจในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

“SCB-กสิกรไทย” ลุยสมรภูมิใหม่

เริ่มจากไทยพาณิชย์ที่ประกาศ “เปิดฉากลุยตลาดเมียนมา” ทันทีเมื่อได้รับอนุมัติจัดตั้งธนาคารลูก (subsidiary bank)

โดย “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คาดว่าธนาคารจะตั้งธุรกิจแล้วเสร็จ พร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2563 นี้ ซึ่งด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในทุกภาคอุตสาหกรรม และจุดเด่นที่ทำให้เมียนมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากต่างชาติ อีกประการหนึ่งคือ ค่าแรงที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนักของแรงงานเมียนมา จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาใช้เมียนมาเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปทั่วภูมิภาคได้

“ปัจจุบันมีลูกค้านักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมา และมีความสนใจใช้บริการกับธนาคารแล้วกว่า 100 ราย จากกลุ่มอุปโภคบริโภคพลังงาน นิคมอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้าประมาณการวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567” นายอาทิตย์กล่าว

ขณะที่ทางกสิกรไทยก็ประกาศว่า KBANK เป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุมัติจากแบงก์ชาติเมียนมาในการเข้าร่วมลงทุนในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือเอแบงก์ ในสัดส่วน 35%

“ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยบอกว่า ปัจจุบันเอแบงก์มีสินทรัพย์ราว 6,400 ล้านบาท มีทุนจดทะเบียนราว 820 ล้านบาท มีสาขารวม 18 สาขา ครอบคลุมทุกเมืองหลัก อาทิ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เมียวดี เมาะลำไย (อิรวดี) รวมทั้งมีแผนกลยุทธ์ขยายธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้งที่สามารถให้บริการ ทั้งกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร และกลุ่มลูกค้าอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้

นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 ธนาคารกสิกรไทยยังได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเข้าไปถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรวมเป็น 40% จากที่กสิกรไทยมีอยู่เดิม 9.99% ตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้

“อินโดฯ-พม่า” โอกาสขยายฐาน

“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ให้ข้อมูลว่า หากเปรียบเทียบการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเมียนมา จะเห็นว่าปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินโดนีเซียและเมียนมายังอยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ของไทยสูงถึง 145% ทั้งสองประเทศจึงยังมีโอกาสที่จะขยายฐานสินเชื่อได้อีกมาก ขณะที่ในแง่ทิศทางดอกเบี้ยก็พบว่า อินโดนีเซียมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงกว่า 6% ส่วนเมียนมาอยู่ที่ 2.9% นับว่าดีกว่าของไทย

ชูโมเดลธุรกิจแตกต่างรุกภูมิภาค

อย่างไรก็ดี การรุกธุรกิจในภูมิภาคของ “กสิกรไทย” กับ “ไทยพาณิชย์” นั้น ใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป โดยไทยพาณิชย์ใช้วิธีการจัดตั้งธนาคารลูก ส่วนกสิกรไทยใช้การเข้าไปร่วมทุนกับธนาคารท้องถิ่น

“อาทิตย์” บอกว่า ภายใต้ subsidiary license ทำให้สามารถเปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ถึง 10 สาขา ซึ่งในระยะแรกธนาคารจะมุ่งตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนแล้วและที่ต้องการเข้าไปขยายธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมา ด้วยโซลูชั่นทางการเงินเพื่อธุรกิจการค้าครบวงจร อาทิ สินเชื่อ อัตราแลกเปลี่ยน ธุรกรรมการค้า ซัพพลายเชนและบริหารเงินสด เป็นต้น

ฟาก “ภัทรพงศ์” ระบุว่า การร่วมลงทุนกับเอแบงก์เป็นรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา ที่ใช้เงินลงทุนที่น้อยและมีประสิทธิผลกว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาต่างประเทศ และธนาคารท้องถิ่น เพราะสามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที และจะเป็นการต่อยอดศักยภาพของเอแบงก์ที่เป็นธนาคารท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็ว มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมาให้บริการ มีความเข้าใจในทุกกลุ่มลูกค้าชาวเมียนมา

เช่นเดียวกับการลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยน ในอินโดนีเซีย ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ที่ธนาคารกสิกรไทยถือครองหุ้น 100% ในลักษณะเดียวกับการเข้าไปลงทุนในเอแบงก์

“การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่า ต่างจากการที่ต้องเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด แม้ธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ พร้อมเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง สามารถต่อยอดความสัมพันธ์ของธุรกิจหลากหลายในทุกกลุ่มลูกค้า รวมทั้งผู้บริหารธนาคารมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย” นายภัทรพงศ์กล่าว


แน่นอนว่า ทั้งสองแบงก์มองเห็นโอกาส “สร้างการเติบโตใหม่” ในสองประเทศนี้ อย่างไรก็ดี ด้วยโมเดลธุรกิจที่แตกต่างกันนั้น จะสร้างความแตกต่างในแง่ผลประกอบการได้เพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไป