“แบงก์-น็อนแบงก์”เฮ!ผ่อนเกณฑ์ตั้งสำรอง

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

สภาวิชาชีพบัญชีผ่อนเกณฑ์ตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ “TFRS9” ชั่วคราว 2 ฉบับ “แบงก์-น็อนแบงก์” เฮ ! ผ่อนคลายจัดชั้นหนี้ หนุนเอ็นพีแอลไม่พุ่งมาก-กำไรดีขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่ม “ค้าปลีก-โรงแรม-สายการบิน” ได้รับปัจจัยบวกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย. คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ได้อนุมัติ แนวปฏิบัติทางการบัญชี ซึ่งเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว จำนวน 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เป็นการผ่อนปรนสำหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และฉบับที่ 2 เป็นการผ่อนปรนสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ ฉบับแรก เป็นการผ่อนปรนทางบัญชีการจัดชั้นลูกหนี้ตามหลักการของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS9) เช่น การจัดชั้นลูกหนี้ non NPL (ผิดนัดชำระไม่เกิน 90 วัน) เป็นชั้น 1 (stage 1) ได้ทันที โดยไม่ต้องรอติดตามผล การจัดชั้นลูกหนี้ NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) เป็นชั้น 1 (stage 1) โดยให้ติดตามเพียง 3 เดือนหรือ 3 งวด การให้คงลูกหนี้อยู่ชั้นเดิมต่อไปได้ก่อนเข้ามาตรการช่วยเหลือ การยกเว้นการคำนวณหนี้สงสัยจะสูญจากวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ (unused credit line) เป็นต้น ให้กับสถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กิจการที่ให้สินเชื่อลูกค้า เช่น เช่าซื้อ ลีสซิ่ง บัตรเครดิต รวมทั้งกิจการอื่น ๆ ทุกกิจการ ที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางที่ ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยผ่อนปรน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 หรือจนกว่า ธปท.จะมีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนฉบับที่ 2 เป็นการผ่อนปรนชั่วคราวทางบัญชีในเรื่องต่าง ๆ เช่น การคำนวณหนี้สงสัยจะสูญด้วยวิธีอย่างง่าย ให้สามารถใช้ข้อมูลในอดีตโดยไม่ต้องนำข้อมูลคาดการณ์ในอนาคตมาใช้คำนวณ การวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนนอกตลาดให้สามารถใช้ยอด ณ วันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมแล้ว โดยการประเมินมูลค่ายุติธรรมในการปิดงบฯไตรมาสที่ 1, 2, 3 และงบฯปี 2563 สามารถใช้ยอดมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ 1 ม.ค. 2563 นั้นได้ และในการวัดมูลค่ายุติธรรมสามารถใช้หลักการตามมาตรฐาน TFRS9 ซึ่งเปิดช่องให้สามารถพิจารณาราคาทุน หรือมูลค่าสุทธิตามบัญชีมาใช้ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ มาตรการฉบับที่ 2 นั้น จะผ่อนปรนในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563 เพื่อช่วยผ่อนปรนให้ทุกกิจการที่ใช้ TFRS9 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการผ่อนปรนชั่วคราว 2 ฉบับที่ออกมา จะเป็นปัจจัยบวกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร และกลุ่มไฟแนนซ์ เนื่องจากการผ่อนปรนจะช่วยให้ในระยะสั้นตัวเลข NPL ไม่เร่งตัวขึ้น คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้น และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองลดลง จึงทำให้มีโอกาสที่กำไรกลุ่มจะได้รับผลบวก ส่วนมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว ฉบับที่ 2 จะช่วยลดแรงกดดันต่อกำไรของกลุ่มหุ้นที่มีสัญญาเช่าสูงจะลดลง และเป็นผลบวกต่องบฯกำไรขาดทุนของบริษัท ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มแรงโรม และ กลุ่มสายการบิน

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า น็อนแบงก์จะได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากความพร้อมเรื่องการตั้งสำรองอาจจะยังไม่เต็มที่อยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งการผ่อนคลายไปก็เป็นเรื่องดี รวมถึงผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่ยังไม่ต้องนำวงเงินในบัตรที่ลูกค้ายังไม่ได้ใช้จ่ายมาตั้งสำรองด้วย

ขณะที่กลุ่มแบงก์นั้น ปีที่แล้วมีการตั้งสำรอง 1.62 แสนล้านบาท ซึ่งปีนี้แม้จะผ่อนคลายลงไป แต่เชื่อว่าระบบแบงก์คงยังตั้งสำรองกันในระดับสูง เพื่อความปลอดภัย