“คลัง” สั่ง “บสย.” ออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9  พ.ค.นี้ หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงซอฟต์โลน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค.นี้  ทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) จะออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 เพื่อเข้ามาเสริมให้กับสถาบันการเงิน ให้สามารถปล่อยสินเชื่อช่วยลูกค้าได้ ซึ่งจะเป็นตัวที่เข้าไปเสริม การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยเป็นการช่วยชดเชยจากภาครัฐหากมีความเสียหาย หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

“ขณะนี้บสย. อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมรูปแบบการชดเชย เพื่อออกมาให้สอดรับกับเงื่อนไขซอฟต์โลนของธปท. โดยจะมีการเสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณามาตรการอีกครั้ง เพื่อออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ให้ได้ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากบสย. แล้วว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS8 ได้ค้ำประกันไปแล้ว 7.6 หมื่นล้านบาท ” นายอุตตม กล่าว

สำหรับความคืบหน้ามาตรการของแบงก์รัฐในการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการสินเชื่อ โดยธนาคารออมสินได้รายงานว่า ได้ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทไปหมดแล้ว ส่วนซอฟต์โลนที่จะปล่อยโดยธปท.นั้น  ได้รับรายงานจากสมาคมธนาคารไทยว่า จะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้วันที่ 8 พ.ค.นี้

นายอุตตม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ (สศค.) ร่วมกับกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐ โดยจัดตั้งสภาสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อจัดระบบ เพื่อนำเสนอมาตรการทั้งหลายของ SFI ให้เข้าใจง่าย  โดยการดำเนินงานนั้นจะผ่านระบบเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ที่จะยึดโยงกับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะมีความชัดเจน และเข้าใจง่าย รวมถึงเปิดรับคำร้องด้วย โดยจะพยายามให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งหากมีมาตรการอะไรออกมา รวมถึงเงินกู้ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาทของธปท. ด้วยจะได้นำเสนอและประชาชนสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนสินเชื่อฉุกเฉินวงเงิน 1 หมื่นบาทต่อราย ที่ปล่อยโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อ วงเงินแห่งละ 2 หมื่นล้านบาท ได้รับรายงานว่า ทั้งสองแห่งสามารถอนุมัติสินเชื่อได้เต็มวงเงินหมดแล้ว โดยธนาคารทั้งสองแห่งจะเริ่มโอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.นี้