ต่างชาติรุกหนักประกันไทย คปภ.อนุมัติ 2 ราย ถือหุ้น 49%

สุทธิพล ทวีชัยการ

ต่างชาติรุกคืบธุรกิจประกันไทย คปภ.ไฟเขียว 2 บริษัทประกันภัย “สยามซิตี้ฯ-ธนชาตฯ” ขยายสัดส่วนต่างชาติถือครองหุ้นไม่เกิน 49% ได้ เปิดทาง “เอฟดับบลิวดีฯ-สโกเทียแบงก์” ขยายฐานธุรกิจ คนในวงการชี้ธุรกิจประกันไทยหอมในสายตานักลงทุนจีน ล่าสุดกลุ่มทุนแดนมังกรเข้าลงทุน 3 บริษัทประกันภัยแล้ว

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ลงนามอนุญาตให้ 2 บริษัทประกันภัยสามารถมีผู้ถือหุ้นต่างชาติได้ถึง 49% จากเดิมถือได้ไม่เกิน 25% คือ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) รวมถึงอนุญาตให้มีกรรมการเป็นต่างชาติได้มากกว่า 1 ใน 4 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดด้วย ซึ่งหลังจากนี้ทั้ง 2 บริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ คปภ.ทั้งในเรื่องการถือหุ้นและแต่งตั้งกรรมการ

นอกจากนี้ ยังต้องปรับปรุงการบริหารงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน และความมั่นคงทางการเงิน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามแผนการดำเนินธุรกิจ เช่น แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ แผนการตลาด แผนการรับประกันภัย แผนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยง ระบบการตรวจสอบควบคุมภายในเครือข่ายทางธุรกิจและเทคโนโลยี เป็นต้น

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า เอฟดับบลิว ดี กรุ๊ป (FWD) จากประเทศฮ่องกง ได้เข้าซื้อกิจการ บมจ.สยามซิตี้ประกันภัย เพื่อขยายฐานลูกค้าและสมาชิกประกันกลุ่มในไทยเป็น 3 ล้านคน ขณะที่ทางสโกเทียแบงก์ (Scotia Bank) จากเนเธอร์แลนด์ ก็แสดงเจตจำนงในการถือหุ้นธนชาตประกันภัย จากปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในธนาคารทีเอ็มบีที่ควบรวมกับธนชาตในสัดส่วน 5.6%

“เดิมธนาคารธนชาตถือหุ้นในธนชาตประกันภัย 100% แต่ระหว่างกระบวนการควบรวม บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ได้เข้าซื้อบริษัทลูกทั้งหมดคืน รวมถึงธนชาตประกันภัยในวงเงิน 2,630 ล้านบาท หรือสัดส่วน 50.96% ส่วนอีก 0.04% ทาง TCAP ได้ซื้อผ่านบัญชีทุนธนชาต เพื่อเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยของธนาคารธนชาต ราคาต่อหุ้น 10.47 บาท มูลค่ารวม 2.06 ล้านบาท ทำให้ตอนนี้ TCAP ถือหุ้นสัดส่วน 51% และอีก 49% ถือโดยสโกเทียแบงก์” รายงานข่าวระบุ

แหล่งข่าวจากวงการประกันภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่กลุ่มเอฟดับบลิวดีเข้ามาถือหุ้นสยามซิตี้ประกันภัย แม้ว่าขนาดธุรกิจจะเล็กมากนั้น น่าจะเพราะต้องการใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกันวินาศภัย โดยเมื่อได้ไปแล้วคาดว่าคงเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากเดิมที่เป็นงานประกันอุบัติเหตุนักเรียนผ่านตัวแทน มุ่งไปกลยุทธ์ขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) ด้วยการเข้าไปทำสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในอนาคต อย่างไรก็ดี ขณะนี้สัญญาระหว่าง SCB กับ บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย แม้จะครบกำหนดลงแล้ว แต่ตอนนี้งานทั้งหมดถูกโอนไปให้ บมจ.เทเวศประกันภัย จึงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงต่อไป

“ช่วงนี้การเข้าซื้อกิจการ (M&A) ถือเป็นโอกาส เพราะราคาประเมินของธุรกิจประกันหายไปมาก อย่างราคาหุ้นที่ตกลงไป 30% ถ้าบริษัทไหนลงทุนในหุ้นเยอะ มูลค่า mark to market ก็หายไป 30% ซึ่งก็อาจมีผลกระทบกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC) ได้ ดังนั้น เมื่อนักลงทุนเข้ามาซื้อกิจการไปแล้วก็ต้องปัดฝุ่น เดินธุรกิจให้ดี เพราะถ้าทำธุรกิจแบบเดิมอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเจอสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็ต้องเปลี่ยนโมเดลใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนกรณีก่อนหน้านี้ที่มีข่าวนักลงทุนชาวจีนหอบเงินมาลงทุนในธุรกิจประกันในไทย รวมถึง คปภ.ประเทศจีนได้เข้ามาหารือกับ คปภ.ไทยเกี่ยวกับไลเซนส์ดิจิทัลนั้น ปัจจุบันก็พบว่ามีกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในบริษัทประกันของไทยแล้ว 3 บริษัท คือ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950, บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย และ บมจ.สหมงคลประกันภัย


“การขยายตลาดประกันต่างประเทศของนักลงทุนจีน คงยังมองไทยเป็นเป้าหมายเพราะเป็นตลาดที่ยังน่าสนใจอยู่ไม่น้อยในกลุ่มอาเซียน หรือ CLMVT (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, ไทย) ซึ่งน่าจะเติบโตดีในอนาคต แต่ช่วงนี้คงจะต้องรอดูผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยว่าจะกระทบแผนการขยายการลงทุนของนักลงทุนเหล่านั้นแค่ไหน” แหล่งข่าวกล่าว