บจ.เลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ 1-2 ปี BSF ดอกเบี้ยแพงไม่มีคนใช้

หุ้น ตลาดหุ้น

หุ้นกู้บริษัทเล็กระส่ำหวั่นโรลโอเวอร์ขายไม่หมด ชิงเรียกประชุมผู้ถือหุ้นขอมติยืดเวลาไถ่ถอน 1-2 ปี เผยต้นปีถึงปัจจุบันมี 4 บริษัทขอมติผู้ถือหุ้นขยายเวลาแล้ว โบรกฯชี้รัฐออกบอนด์ให้ดอกเบี้ยสูงแย่งกำลังซื้อ แถมคนยังไม่มั่นใจส่งผลหุ้นกู้หลายบริษัทขายไม่หมด ต้องหันกู้แบงก์แทน ส่วนกองทุน BSF ดอกเบี้ยแพงยังไม่มีคนขอใช้ ฟาก ThaiBMA แจงบรรยากาศออกหุ้นกู้เริ่มฟื้น ชี้มีแต่บริษัทเล็กขาดกระแสเงินสดต้อง “ยืดหนี้” ส่วนบริษัทใหญ่ไร้ปัญหาไถ่ถอนได้ครบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรวบรวมบริษัทที่มีการประกาศเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 12 พ.ค. 63) พบว่า มีด้วยกัน 4 บริษัท ได้แก่ 1.บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) โดยขอขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่น ACAP202A มูลค่ารวม 395.3 ล้านบาท ออกไปอีก 366 วัน เป็นวันที่ 7 ก.พ. 2564 พร้อมกำหนดจ่ายดอกเบี้ยใหม่เป็น 7.50% ต่อปี จากเดิม 6.00% 2.บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) ขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ MIDA204A มูลค่ารวม 612 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี เป็นวันที่ 24 เม.ย. 2565 และปรับเพิ่มดอกเบี้ยเป็น 6.00% จากเดิม 5.5%

3.บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. เตรียมจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ PSL206A ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ เพื่อขอมติเลื่อนการไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นดังกล่าว มูลค่ารวม 1,960 ล้านบาท ออกไปอีก 18 เดือน เป็นวันที่ 9 ธ.ค. 2564 และจะจ่ายอัตราดอกเบี้ย 6.50% จากเดิม 5% และ 4.บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ว่าจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ CWT205A ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เพื่อขอขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ มูลค่ารวม 337.10 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี เป็นวันที่ 23 พ.ค. 2564 และจะชำระคืนเงินต้น 30% ของมูลค่าหุ้นกู้คงค้าง พร้อมด้วยดอกเบี้ยงวดวันที่ 23 พ.ค. 2563 โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ย จากปัจจุบันจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.75%

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ ประธานกรรมการบริหาร CWT กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค. คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงมีมติยกเลิกกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล วันที่ 28 พ.ค. 2563 รวมทั้งการอนุมัติให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ CWT205A เพื่อขอขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ที่มีความเปราะบาง และบริษัทต้องมีแผนสำรองเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้านนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในภาวะดอกเบี้ยขาลง รวมถึงการออกขายพันธบัตรของรัฐบาลที่เสนออัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2.10% ในรุ่น 5 ปี และ 3% ในรุ่น 10 ปี ส่งผลให้บริษัทเอกชนที่เสนอขายหุ้นกู้ในช่วงนี้ ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อจูงใจนักลงทุน รวมถึงความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลต่อความมั่นใจลงทุน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่เสนอขายหุ้นกู้ในช่วงนี้ไม่สามารถขายได้หมดตามวงเงินที่กำหนดเอาไว้

“ล่าสุดหุ้นกู้ของ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) ไม่สามารถจำหน่ายได้เลย ส่วนหุ้นกู้ของ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง(GUNKUL) ขายได้เพียง 48% ของวงเงินที่ตั้งไว้เท่านั้น และหุ้นกู้ของ บมจ.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ (CI) ขายได้เพียง 29%” นายณัฐพลกล่าว

อย่างไรก็ดี การพิจารณาความเสี่ยงคงต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยในส่วนของ ACAP เกิดการผิดนัดชำระหนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นความเสี่ยงการบริหารเงินภายในบริษัท เป็นความเสี่ยงเฉพาะตัว รวมถึงกรณีของ MIDA เช่นกัน ขณะที่กรณีของ PSL ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากฐานะทางการเงินของบริษัทยังค่อนข้างดี

นายณัฐพลกล่าวด้วยว่า จากยอดการให้สินเชื่อของระบบสถาบันการเงินที่ยังไม่สูงมากนักในปัจจุบัน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่บริษัทผู้ออกหุ้นได้

“แต่ ณ วันนี้ก็ยังไม่มีใครวิ่งไปหากองทุน BSF เพราะดอกเบี้ยค่อนข้างแพง ไม่ได้ตอบโจทย์ทันที โดยสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศน่าจะยังช่วยได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินตอนนี้ก็ค่อนข้างต่ำ” นายณัฐพลกล่าว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า สถานการณ์การขอออกหุ้นกู้เริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีผู้มาขอออกหุ้นกู้เกือบ 10 ราย และมีหุ้นกู้บางส่วนที่มีการขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป แต่เป็นบริษัทขนาดเล็ก เนื่องจากไม่สามารถหากระแสเงินสดมาได้ จึงยืดหนี้ออกไป ส่วนบริษัทใหญ่สามารถไถ่ถอนได้ทุกราย


“สถานการณ์ค่อย ๆ กลับมาดีขึ้น ขณะนี้เริ่มมีบรรยากาศการกลับเข้ามาระดมทุนและลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. ที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ไปแล้ว วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท และในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า มีหุ้นกู้ที่จะออกมาเสนอขายอีก วงเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ดังนั้น สถานการณ์ขณะนี้บรรยากาศการลงทุนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่น่ามีความกังวลเกิดขึ้นแล้ว” นางสาวอริยากล่าว