รัฐวิสาหกิจอ่วม พิษโควิด-19 แห่กู้เพิ่มแก้ขาดสภาพคล่อง

ภาพประกอบ

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งด้วย

โดยตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พบว่านอกจากรัฐบาลจะเตรียมกู้เงินเพิ่มเติม 6 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างเร่งด่วนแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังมีการปรับแผนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องด้วย

จึงมีผลทำให้กรอบการกู้เงินตาม “แผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป” ปรับเพิ่มขึ้น 11,240 ล้านบาท จากที่มีรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งขอกู้เงินเพิ่ม ได้แก่ 1.การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กู้เพิ่ม 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับ/บรรเทาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจาก กคช.ได้ออกมาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงกระทบต่อรายรับของ กคช.อย่างมีนัยสำคัญ

2.การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กู้เงินเพิ่ม 2,000 ล้านบาท เพื่อสำรองเงินไว้เสริมสภาพคล่อง เนื่องจาก กปภ.ต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมถึงการหยุดประกอบธุรกิจต่าง ๆ มีผลทำให้รายได้จากการจำหน่ายน้ำประปาลดลง

3.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เพื่อดำเนินงานเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท จากเดิมขอกู้ไว้แล้ว 3,000 ล้านบาท เพื่อดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอและรองรับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจาก กฟภ.ต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า

4.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กู้เงินเพิ่ม 1,000 ล้านบาท เพื่อสำรองสภาพคล่องรองรับธุรกิจใหม่ 5.สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) กู้เพิ่ม 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) กู้เพื่อดำเนินโครงการ สธค. โรงรับจำนำของรัฐสู้ภัยโควิด-19 โดยขยายตั๋วจำนำและลดดอกเบี้ยให้แก่ประชาชน 2,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคารออมสิน (ซอฟต์โลน) และ 2) กู้ระยะสั้นในรูป credit line เพื่อต่ออายุสัญญาเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 500 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ

6.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กู้เพิ่ม 1,200 ล้านบาท ในรูป credit line เพื่อสำรองสภาพคล่องทางการเงินสำหรับใช้ดำเนินงานในแต่ละเดือน เช่น การจัดซื้อจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อจัดสรรให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสำรองสภาพคล่อง กรณีลูกค้ารายใหญ่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ และ 7.องค์การสะพานปลา (อสป.) กู้เพิ่ม 40 ล้านบาทในรูป credit line เพื่อสำรองสภาพคล่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง จึงต้องขอกู้เงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน และ กู้เงินเสริมสภาพคล่องในรูป credit line โดยภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ จะต้องมีการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะใหม่อีกครั้ง ในกรณีที่ต้องค้ำประกันเงินกู้ให้กับ “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” 5.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการปรับแผนบริหารหนี้รอบที่ผ่านมายังไม่มีการค้ำประกันเงินกู้รายการดังกล่าว เพราะต้องให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม.อนุมัติก่อน

โดยขณะนี้ยังต้องรอให้กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการแนวทางการฟื้นฟูการบินไทยก่อน จากนั้นจึงจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) ที่มี “นายอุตตม สาวนายน” รมว.คลังเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติปรับแผนแล้วนำเสนอ ครม.เห็นชอบอีกที

“การจะค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย จากเดิมที่คลังไม่ต้องค้ำเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงประเด็นที่การบินไทยมีผลขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปี ทำให้ต้องมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อค้ำประกันให้นั้น คนน. จะต้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นอย่างรอบด้าน เพื่อให้ตอบสังคมได้ว่า ทำไมต้องค้ำประกันให้การบินไทย อย่างไรก็ดี การค้ำประกันเงินกู้เพิ่ม 5.4 หมื่นล้านบาท แม้จะมีผลทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มมากขึ้น และไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง”

“แพตริเซีย มงคลวนิช” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมปรับแผนบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ จากนั้นจะเสนอ คนน. ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ส่วนการค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย ต้องรอ ครม. มีมติเห็นชอบก่อน

ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการ สบน. ระบุว่า ตามแผนบริหารหนี้ล่าสุดที่ ครม.เห็นชอบไปนั้น จะทำให้หนี้สาธารณะสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 51.84% และสิ้นปี 2564 หากมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินเต็มวงเงิน 1 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ 57.96% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของ GDP อย่างไรก็ดี หากจำเป็นต้องขยายกรอบดังกล่าวก็อาจจะขยายได้ไม่เกิน 77% ของ GDP ตามเกณฑ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

“ตอนนี้ ยังไม่จำเป็นต้องขยับกรอบหนี้สาธารณะ แต่ถ้าตามกฎหมาย ก็มีรอบที่จะต้องพิจารณาทบทวนในปีงบประมาณ 2564” นางแพตริเซียกล่าว

ทั้งนี้ คงต้องติดตามความคืบหน้าการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่การบินไทยต่อไปว่า บทสรุปสุดท้ายจะออกมาอย่างไร รวมถึงคงต้องจับตาด้วยว่าจะมีรัฐวิสาหกิจแห่งอื่น ๆ ที่มีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งหากมีรัฐบาลก็คงต้องเตรียมแผนดูแลไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้ลุกลามบานปลายเหมือนสายการบินแห่งชาตินั่นเอง