หนี้เสีย “รถยนต์-กู้บ้าน” ขาขึ้น

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปีนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นมาที่ 9.5 แสนล้านบาท จากไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ 7.7 แสนล้านบาท โดยมี 2 กลุ่มสินเชื่อที่น่าเป็นห่วง คือ สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน โดยสินเชื่อรถยนต์ในไตรมาสแรก มีเป็นหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาที่ 6.2% จาก 5.9% ต่อสิ้นปี 2562 สิ่งที่น่ากังวลคือกลุ่มที่กู้สินเชื่อรถยนต์เป็น Gen Z อายุน้อย ซึ่งกู้ 4.7 แสนสัญญา หรือ 54%

“ภาระหนี้กลุ่ม Gen Z 55% เป็นสินเชื่อรถยนต์ และเมื่อพิจารณาวงเงินสินเชื่อรถยนต์เฉลี่ย อยู่ที่ 5.7 แสนบาทต่อคน รวมดาวน์เฉลี่ย 6 แสนบาท เริ่มมีปัญหาชำระหนี้อาจส่งผลให้เอ็นพีแอลในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น”

ขณะที่สินเชื่อบ้านมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 8 หมื่นบัญชี ลดลงมาก โดยพบว่า 64% เป็นกลุ่ม Gen Y ซึ่งมีแนวโน้มค้างชำระค่อนข้างสูง รวมถึงมีแนวโน้มเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นจาก 4.6% ไตรมาส 1 ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 5% ในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยคาดว่าปีนี้จะมีการเปิดบัญชีเงินกู้ใหม่ลดลงอยู่ที่ 3 แสนบัญชี เนื่องจากธนาคารกังวลปัญหาเอ็นพีแอล รวมถึงตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง

นายสุรพลกล่าวด้วยว่า ในปี 2563-2564 นี้ จะเป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนไทย เนื่องจากภายในปีนี้คาดว่ายอดการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) และการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก น่าจะเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากผลกระทบทางด้านโควิด-19 ผ่านมาตรการผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งในไตรมาสแรกมียอด TDR อยู่ที่ 9.7 แสนล้านบาท