เปิดรายงาน กนง.ห่วงบาทแข็งค่าแซงภูมิภาค มองเงินเฟ้อต่ำชั่วคราวไม่เกิดเงินฝืด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563 ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 โดย กนง. แสดงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป และศึกษาถึงมาตรการที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากการส่งออกทองคำด้วย

โดยในที่ประชุมมีการกล่าวถึงอัตราแลกเปลี่ยน ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนเริ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น (risk-on sentiment) หลังสถานการณ์การระบาด COVID-19 ปรับดีขึ้นและหลายประเทศรวมถึงไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติจึงเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทย แต่ยังคงขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย
นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาทองคำอีกด้วย ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก

ส่วนในด้านภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง และวิเคราะห์หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (scenario analysis) จากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าและการระบาดในต่างประเทศ รวมถึงผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและยารักษา (2) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบสองในประเทศ และ (3) ประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลัง การเงิน และสินเชื่อ โดยต้องออกใช้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและทันการณ์เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน กนง.กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่จะลดลงมากและอาจใช้เวลานานกว่าจะกลับเป็นปกติ ทั้งในกลุ่มลูกจ้างและผู้จ้างงานตนเอง (self-employed) โดยแรงงานบางส่วนอาจว่างงานชั่วคราวในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด แต่แรงงานบางส่วนอาจว่างงานถาวรเนื่องจากธุรกิจประสบปัญหาด้านฐานะทางการเงินจนปิดกิจการ ลดการจ้างงานตามอุปสงค์ที่ลดลง หรือปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) มากขึ้น กลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะหางานยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง (economic scars) จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กนง.เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากฐานะทางการเงินที่เปราะบางของภาคเอกชน แนวโน้มการว่างงาน และแนวโน้มเศรษฐกิจ ดังนั้น มาตรการการคลังและการลงทุนภาครัฐจะต้องเป็นเครื่องมือหลักในการประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวมากจนถึงระดับที่ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินในวงกว้าง

ส่วนทางด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย กนง.เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเป็นผลชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (deflation risk)

ทั้งนี้ สามารถติดตาม “รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563” จากการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ทั้งหมดได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/ReportMPC/Pages/default.aspx