เปิดไทม์ไลน์แผนฟื้นฟู “การบินไทย” ลุ้น 7 ปีพ้นบ่วงหนี้

การบินไทยเปิดไทม์ไลน์แผนฟื้นฟูกิจการยาว 7 ปี ชี้กรณีมีเจ้าหนี้เสนอผู้ทำแผนแข่ง จะทำให้ขั้นตอน ที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ-ตั้งผู้บริหารแผนลากยาวไปถึงปลาย มิ.ย.64 พร้อมเปิด 3 ประเด็นหลักที่ศาลล้มละลายฯใช้พิจารณาว่าจะให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการหรือไม่

นางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยในการประชุมผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเมื่อ 8 มิ.ย. 2563 ว่า กรอบระยะเวลาในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย หลังจากวันที่ 27 พ.ค.63 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ทำให้การบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว (Automatic Stay) โดยการบินไทยสามารถทำการใดๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติสามารถดำเนินต่อไปได้

ทั้งนี้วันที่ 13 ส.ค.63 วันสุดท้ายที่เจ้าหนี้จะสามารถยื่นคำคัดค้านฟื้นฟูกิจการ ก่อนศาลจะมีการเปิดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค.63

คาดว่าปลายเดือน ส.ค.-ต้นเดือน ก.ย.63 ศาลจะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ และกรณีที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ผู้ทำแผนจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ประมาณเดือน ม.ค.2564

ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.64 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน และประมาณปลายเดือน เม.ย.64 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

กรณีเจ้าหนี้ตั้ง “ผู้ทำแผน” แข่ง

ในกรณีที่มีเจ้าหนี้เสนอ “ผู้ทำแผน” ขึ้นมาแข่ง ประมาณเดือน พ.ย.63 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน และประมาณเดือน ม.ค.64 ศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน โดยผู้ทำแผนจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประมาณเดือน เม.ย.64 และประมาณเดือน พ.ค.64 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน และประมาณปลายเดือน มิ.ย.64 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งจะเริ่มดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

ทั้งนี้กรอบระยะเวลาการดำเนินการฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงการประมาณการ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามแผนจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟู โดยสามารถขยายกำหนดระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี รวม 7 ปี

เปิด 3 ประเด็นหลักที่ศาลฯใช้ตัดสินฟื้นฟูหรือไม่

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด (ที่ปรึกษากฎหมาย) กล่าวว่า การบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว เหตุผลที่ไม่ใช้คำว่าระงับ-พักการชำระหนี้ เพราะว่าการที่เจ้าหนี้ฟ้องร้องการบินไทยไม่ได้ แต่ในทำนองเดียวกัน การบินไทยก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เช่น ห้ามให้ก่อหนี้, ห้ามไม่ให้ชำระหนี้ เว้นแต่เป็นหนี้ที่ไปเป็นเพื่อการดำเนินกิจการในทางการค้าปกติ ซึ่งจะมีผลจนกระทั่งคดีฟื้นฟูกิจการจะเสร็จสิ้น

ในการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลาง ในหลักการศาลจะพิจารณาใน 3 ประเด็นคือ 1.สถานะ ทรัพย์สิน หนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้ 2. มีเหตุอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้หรือไม่ 3.บุคคลที่การบินไทยเสนอให้เป็นผู้ทำแผนสมควรเป็นผู้ทำแผนหรือไม่ หากศาลไต่สวนได้ความจริงตามองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการแล้วตั้งผู้ทำแผนตามที่เสนอ ซึ่งจะเข้ากระบวนการช่วงที่ 2 ของการฟื้นฟูกิจการต่อไป ซึ่งระยะช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน จนถึง 1 ปีหรืออาจจะเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ทั้งความร่วมมือสนับสนุนของเจ้าหนี้ของการบินไทยในการให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หรือคัดค้านแผน รวมทั้งแผนฟื้นฟูกิจการที่ถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ทำแผนดังกล่าว

ช่วงสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงสำคัญ เมื่อมีการดำเนินการตามแผนที่เห็นชอบด้วยแผนแล้ว ผู้บริหารแผนที่ศาลจัดตั้งภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพราะฉะนั้นแผนฟื้นฟูกิจการควรจะแล้วเสร็จภายใน 7 ปี

“โดยปกติแล้วจะมีทั้งแปลงหนี้เป็นทุน การชำระหนี้บางส่วน การลดหรือเพิ่มทุน การขายทรัพย์สินบางอย่าง”

ที่สำคัญมากคือ การจัดประเภทเจ้าหนี้จะอยู่ในช่วงของการทำแผน ซึ่งผู้ทำแผนก็จะเสนอว่าจะมีเจ้าหนี้กี่กลุ่ม เช่น เจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้คืนตั๋ว ซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันตั้งผู้ทำแผนหรือขยายเวลาได้ ซึ่งมีความสำคัญในเรื่องของความสำเร็จของแผน เพราะคนที่อนุมัติแผนคือเจ้าหนี้