“เครดิตบูโร”รุกเพิ่มฐานสมาชิก ดึง”แกร็บ-ไลน์-พิโกฯ”แชร์ประวัติสินเชื่อ

สุรพล โอภาสเสถียร
สุรพล โอภาสเสถียร

“เครดิตบูโร” ดึง “แกร็บ-ไลน์-พิโกไฟแนนซ์” เข้าเป็นสมาชิกในไตรมาส 2 นี้ ฟาก “สมาคมพิโกไฟแนนซ์” วอนลดค่าสมาชิกหนุนผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลใช้ประกอบการปล่อยสินเชื่อ ชี้ช่วยกรองหนี้เสียได้

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในไตรมาส 2 นี้ จะมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) กลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการ Grab และ LINE ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกเต็มตัว

ส่วนกลุ่ม FinTech ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า อยู่ระหว่างแก้กฎหมายให้มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นสมาชิกและส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรได้ ขณะที่กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ยังต้องรอความชัดเจนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำกับดูแล ซึ่งล่าสุดมีประกาศหลักเกณฑ์ให้สหกรณ์ปฏิบัติตาม 2-3 ข้อ คือ 1.เงินปล่อยกู้จะต้องไม่เกิน 15 งวด หรือ 2 ปีครึ่ง 2.การปล่อยกู้ใหม่สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) จะต้องไม่เกิน 70% และ 3.เงินกู้ที่เกินกว่า 1 ล้านบาท จะต้องให้นำข้อมูลจากเครดิตบูโรไปพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ สมาชิกของเครดิตบูโรในไตรมาส 1 ปี 2563 มีอยู่ 103 แห่ง แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 17 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 6 แห่ง น็อนแบงก์-นาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์รวม 18 แห่ง เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง 52 แห่ง และอื่น ๆ อีก 10 แห่ง โดยจำนวนบัญชีสินเชื่อที่เป็นบุคคลธรรมดามีอยู่ราว 108 ล้านบัญชี ครอบคลุมลูกหนี้ 28 ล้านราย ขณะที่สินเชื่อนิติบุคคลอยู่ที่ 4.3 ล้านบัญชี ครอบคลุม 4 แสนบริษัท ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ปีนี้มีจำนวนรายการสืบค้นข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 20.37 ล้านครั้ง ขณะที่ปี 2562 ทั้งปีมีจำนวนรายการสืบค้นข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่ 73.83 ล้านครั้ง

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย กล่าวว่า สมาชิกของสมาคมที่เข้าไปยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกกับเครดิตบูโร ปัจจุบันยังมีไม่เกิน 10 ราย จากผู้ประกอบการที่มีทั้งหมดอยู่ 1,189 ราย โดยยอดสินเชื่อคงค้าง ณ เดือน ก.พ. 2563 อยู่ที่ 6,114 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 11.95%

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์มีความต้องการเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เนื่องจากจะช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อมีความแม่นยำขึ้น และลดความเสี่ยงการเกิดหนี้เสียได้ แต่ปัจจุบันยังค่อนข้างติดปัญหาข้อบังคับของเครดิตบูโรที่สมาชิกต้องมีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ซึ่งพิโกไฟแนนซ์มีทุนจดทะเบียนแค่ 5 ล้านบาท และพิโกพลัส 10 ล้านบาท ทำให้มีเพียงบางรายเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์

นอกจากนี้ อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการยังถือว่าค่อนข้างสูงมากสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งค่าสมาชิกและค่าบริการต่อราย โดยจะมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1.ค่าสมาชิกรายเดือน เดือนละ 5 หมื่นบาท ถ้าตรวจสอบพบข้อมูลจะมีค่าใช้จ่าย รายละ 12 บาท และกรณีไม่พบข้อมูลมีค่าใช้จ่ายรายละ 5 บาท และ 2.ค่าสมาชิกรายเดือน เดือนละ 2.5 หมื่นบาท กรณีตรวจสอบพบข้อมูลจะมีค่าใช้จ่ายรายละ 70 บาท และกรณีไม่พบข้อมูลมีค่าใช้จ่ายรายละ 35 บาท

นายสมเกียรติกล่าวว่า กรณีค่าสมัครรายเดือน 5 หมื่นบาท ผู้ประกอบการต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้ถึง 2 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนกรณีสมาชิกรายเดือนที่ 2.5 หมื่นบาท ต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านบาทต่อเดือน จึงจะคุ้มต้นทุนค่าสมาชิก เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีธุรกิจเฉพาะอีก 3.3% ของดอกเบี้ยรับ ดังนั้น หากเครดิตบูโรปรับลดค่าสมาชิกลงมาได้ จะเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้ประกอบการ และทำให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์สนใจสมัครเป็นสมาชิกเครดิตบูโรมากขึ้น


“หากค่าสมาชิกลดลงเหลือเดือนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งคำนวณการปล่อยกู้อยู่ที่ 5 แสนบาทต่อเดือน ผู้ประกอบการก็พอรับได้ จึงอยากให้มีการช่วยทบทวนตรงนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูล” นายสมเกียรติกล่าว