“สมคิด” สั่งคลายเกณฑ์ซอฟต์โลน ธปท. หนุนผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ

สมคิด สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง เซ็ตกลไกคลายเกณฑ์ซอฟต์โลนธปท. หนุนเอสเอ็มอีมียอดสินเชื่อคงค้างเกิน 500 ล้านบาท เข้าถึงแหล่งทุน รับลูกเอกชน เร่งคลังหาแนวทางขยายเวลาพักชำระหนี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาช่องทางหรือเซ็ทกลไก เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีขนาดเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของธปท.ได้ ทำให้กลุ่มนี้ยังขาดสภาพคล่อง

“ส่วนสำคัญที่จะต้องดูแลขณะนี้ คือ คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งจะต้องหยุดการเป็นหนี้เสียตั้งแต่ต้นทาง โดยเข้าไปดูแลธุรกิจที่มีขนาดเกิน 500 ล้านบาท ที่ไปขอสินเชื่อจากมาตรการส่วนใดก็ไม่ได้ อย่างซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ ก็ไม่สามารถเข้าไปซัพพอร์ตได้ตามเงื่อนไขของพ.ร.ก. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการไปเซ็ตกลไกใหม่ ที่จะสามารถรองกลไกของเขาได้ คาดจะออกมาในช่วงกลางเดือนก.ค.นี้”

พร้อมกันนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็จะเข้ามาดูแลเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ส่วนข้อเสนอขอเลื่อนการพักชำระหนี้เอสเอ็มอีออกไปเป็น 2 ปี จากเดิม 6 เดือน จากภาคเอกชนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางในการช่วยหลือเอสเอ็มอีรายย่อย กระทรวงการคลังได้สั่งให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) และสศค. ไปเตรียมออกโครงการค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ มาตรการดังกล่าวจะออกมา ซึ่งจะเป็นการเข้าไปสนับสนุนให้ซอฟต์โลนของธปท. สามารถปล่อยได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ จะเข้าไปพิจารณากลไกในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อยอดคงค้างเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงธุรกิจสายการบินด้วย

ขณะที่การขอยืดการพักชำระหนี้ออกไปนั้น ยังสรุปไม่ได้ว่า จะยืดหนี้ออกไปอย่างไร จะต้องให้ ธปท.ไปพิจารณาก่อน ซึ่งจากเดิมพักชำระหนี้ให้ในระยะเวลา 6 เดือน ส่วนจะยืดออกไปเป็นระยะเวลาเท่าใดยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าจะทำจะต้องเป็นระยะยาวขึ้น เพราะโควิด-19 ยังไม่หยุดนิ่ง และหากจะทำก็จะพิจารณาช่วยเหลือทุกกลุ่ม

“มาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่า -8% ตามที่ธปท.คาดการณ์หรือไม่นั้น เลิกพูดได้แล้ว เพราะสถานการณ์เช่นนี้คาดการณ์ลำบาก แค่คิดว่า เราโฟกัสว่า จะทำอย่างไร และรู้ว่าจะเป็นผลดีอย่างแน่นอน บรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง และสร้างงานหลังโควิด-19”