ศูนย์วิจัยออมสิน ชี้เดือนมี.ค. คนว่างงานกว่า 3.92 แสนราย

ศูนย์วิจัยออมสิน รายงานภาวะเศรษฐกิจฐานราก เดือนเม.ย.-พ.ค.63 ว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร: เดือนเมษายน 2563 หดตัวร้อยละ -13.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ -22.13 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลงคือ หมวดพืชผลสำคัญ และหมวดประมง ส่วนหมวดปศุสัตว์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตร: เดือนเมษายน 2563 ขยายตัวร้อยละ 3.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ -5.20 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นคือ หมวดพืชผลสำคัญ ส่วนหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีรายได้เกษตรกร: เดือนเมษายน 2563 ขยายตัวร้อยละ 10.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ -26.14 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดจากระดับราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าการลดลงของปริมาณผลผลิต โดยราคาสินค้าหลักที่เพิ่มขึ้นคือสินค้าข้าว ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน

อัตราเงินเฟ้อของผู้มีรายได้น้อย: เดือนพฤษภาคม 2563 ลดลงร้อยละ -2.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งค่าไฟฟ้าและน้ำประปาจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยเหลือด้านค่าครองชีพในช่วง COVID-19 ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเกือบทุกหมวด ยกเว้นผักสดที่ลดลงจากฐานปีที่แล้วสูง ประกอบกับการบริโภคชะลอตัวลงทั้งภาคการท่องเที่ยวและการเลื่อนเปิดภาคการศึกษาออกไป

ปริมาณการขายรถจักรยานยนต์: เดือนเมษายน 2563 ปริมาณการขายรถจักรยานยนต์ อยู่ที่ 78,873 คัน ลดลงร้อยละ -34.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าปริมาณการขายรถจักรยานยนต์ ปรับตัวลดลงร้อยละ -46.25

ภาวะการจ้างงาน: เดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนการจ้างงานรวม 37.33 ล้านคน ปรับลดลงร้อยละ -1.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมร้อยละ 30.22 (11.28 ล้านคน) และนอกภาคเกษตรกรรมร้อยละ 69.78 (26.05 ล้านคน) โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลง ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวเล็กน้อย เมื่อจำแนกจำนวนผู้มีงานทำ ตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้มีงานทำที่ไม่มีการศึกษา หดตัวร้อยละ -11.76 ผู้มีงานทำที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา ขยายตัวร้อยละ 3.67 ส่วนผู้มีงานทำที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา หดตัวร้อยละ -17.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาวะผู้ว่างงาน: เดือนมีนาคม 2563 มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.92 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 13.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนร้อยละ 52.35 และเคยทำงานมาก่อนร้อยละ 47.65 เมื่อจำแนกจำนวนผู้ว่างงาน ตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้ว่างงานที่ไม่มีการศึกษา หดตัวร้อยละ -45.31 ส่วนผู้ว่างงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา ขยายตัวร้อยละ 28.23 และผู้ว่างงานที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา หดตัวร้อยละ -11.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ค่าจ้างแรงงาน: เดือนมีนาคม 2563 ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ 6,013.47 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยนอกภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ 15,609.45 บาทต่อเดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ความเคลื่อนไหวการแก้ไขหนี้นอกระบบ

  1. ธนาคารออมสิน อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน

ระยะที่ 1 วงเงิน 5,000 ล้านบาท จำนวน 119,592 ราย เป็นเงิน 4,988.76 ล้านบาท (สิ้นสุด มี.ค. 2561)

ระยะที่ 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท จำนวน 230,055 ราย เป็นเงิน 10,000.00 ล้านบาท (สิ้นสุด มี.ค. 2563)

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน

ระยะที่ 1 วงเงิน 5,000 ล้านบาท จำนวน 105,721 ราย เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท (สิ้นสุด มี.ค. 2561)

ระยะที่ 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท จำนวน 169,016 ราย เป็นเงิน 7,377.40 ล้านบาท (สิ้นสุด มี.ค. 2563)

  1. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) มีการอนุมัติสินเชื่อสะสม 906,207 บัญชี เป็นเงิน 16,968 ล้านบาท
  2. สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) มีการอนุมัติสินเชื่อสะสม 248,423 บัญชี เป็นเงิน 5,589.58 ล้านบาท มีสินเชื่อคงค้างชําระเกิน 3 เดือน (NPL) 12,478 บัญชี คิดเป็นเงิน 342.80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.45 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2563)

สรุปภาพรวมเดือนเม.ย.-พ.ค.63 ได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจฐานราก ที่แม้จะมีผลเชิงบวกต่อภาคการเกษตรในด้านราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้ระดับรายได้ของเกษตรกรในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น แต่ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคการผลิตและบริการยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้อุปสงค์ของโลกและของไทยเกิดการชะลอตัวในระดับสูง แต่ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการระยะ 1-4 ที่อนุญาตให้หลายธุรกิจกลับมาดำเนินการได้นั้น ได้ช่วยลดความตึงเครียดของภาคธุรกิจและแรงงาน อย่างไรก็ตามแนวโน้มการระบาดรอบ 2 ที่เริ่มมีขึ้นในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อาจทำให้มีการระบาดรอบ 2 เกิดขึ้นในไทยได้เช่นเดียวกัน ประเด็นดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจในระยะถัดไป