“ออมสิน” ขยายเวลาพักหนี้ ประกาศลุยธุรกิจ “น็อนแบงก์”

ธนาคารออมสิน เตรียมขยายเวลาพักชำระหนี้ ไปจนถึงเดือนธันวาคม จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธ.ออมสิน จะขยายเวลาพักชำระหนี้และดอกเบี้ย ไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2563 จากมาตรการเดิมจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน ซึ่งลูกค้าจะสามารถเลือกได้ว่าจะขอพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือจะเลือกพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น หรือดอกเบี้ย

ผอ. ธนาคารออมสิน ระบุว่า ลูกค้าจะสามารถขอขยายเวลาพักชำระหนี้ได้ ผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo คาดว่าจะพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. นี้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ออมสิน ได้พักชำระหนี้ให้กับลูกค้าไปแล้วกว่า 3.1 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท

เข้าสู่ธุรกิจน็อนแบงก์

พร้อมกันนี้ นายวิทัย ระบุว่า ธ.ออมสิน จะเข้าสู่ธุรกิจน็อนแบงก์อย่างเต็มตัว เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ และมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้ากลุ่มฐานรากใช้บริการน็อนแบงก์ ได้แก่ สินเชื่อบุคคล/บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น ซึ่งคิดอัตราในระดับสูงถึง 24 – 28% ต่อปี หรืออาจจะมากกว่านี้ โดยมีเป้าหมายจะลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลงให้ได้ 8-10% ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนี้

นอกจากนี้ จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ที่มุ่งเป้าช่วยเหลือประชาชนในการสร้างธุรกิจ โดยรวบรวมองค์ความรู้ในทุกด้านที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Street Food, กลุ่ม Homestay เป็นต้น

เริ่มจากการให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม การคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางกลยุทธ์การตลาด และสร้างช่องทางการขาย/การหาลูกค้า ไปจนถึงการให้สินเชื่อ และการร่วมทุน โดยธนาคารออมสินจะเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า Digital Banking จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะถูกปรับบทบาทให้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของสาขา และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

ธนาคารฯ จึงเตรียมพัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ ๆ บนแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ อาทิ บริการปรับโครงสร้างหนี้ การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ตลอดจนบริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ไปเช่นกัน

ทั้งนี้ คาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2563 กำไรสุทธิจะลดลงมาอยู่ที่ 12,000-13,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 24,208 ล้านบาท เป็นผลจากธนาคารได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ออมสินยังคงมีสภาพคล่องหลักแสนล้านบาท สามารถออกโครงการมาดูแลประชาชนได้ทั้งปีนี้ และปี 2564