เปิดประวัติ “ปรีดี ดาวฉาย” ว่าที่รัฐมนตรีคลัง คนที่ 53 โควต้า “ประยุทธ์”

ประวัติ

ชื่อ “ปรีดี ดาวฉาย” ถูกสปอตไลค์ฉายส่อง ตั้งแต่ทีมรัฐมนตรีกลุ่ม “4 กุมาร” ยังไม่ลาออก

ยิ่งเขาขยับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ใกล้ชิดศูนย์อำนาจที่ทำเนียบรัฐบาล เข้าประชุมบอร์ดบริหารระดับชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ทั้งในฐานะกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

ยิ่งทำให้บารมีที่มีฐานจาก กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กุมบังเหียนประธานสมาคมธนาคารไทย ส่งประกาย-เปล่งแสงชัดเจนยิ่งขึ้น

ไม่เพียงอยู่ในแวดวงการเงิน เขายังข้ามเขตแดนไปสู่ยุทธจักรการลงทุนขนาดใหญ่ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการลงทุนของภาครัฐ และร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล “ปรีดี” ยังคุ้นเคยกับกลุ่มอำนาจจากตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ. อีกตำแหน่ง

วาระที่นายกรัฐมนตรี และทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจประชุมโดยพร้อมเพรียง ในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก็มีเก้าอี้ของ “ปรีดี” ร่วมวง

“ปรีดี” ยังปรากฏตัวใน วงประชุมที่มีกูรูนักรัฐศาสตร์ นักปกครอง นักฏหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิทั่วทั้งแวดวงราชการ 20 กว่ากระทรวง ในห้องประชุมที่ชื่อกรรมการ “ยุทธศาสตร์ชาติ”

แวดวงองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ระดับชาติ อย่าง มูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็มีชื่อ “ปรีดี” ร่วมคลุกวงในเป็นกรรมการ

สังคมชาวแบงเกอร์ ระดับกลุ่มประเทศที่เป็นแอ่งกระทะการลงทุนจากทั่วโลกอย่างอาเซียน “ปรีดี” ก็เกี่ยวติดใน “กรรมการ ASEAN Bankers Association”

“ปรีดี ดาวฉาย” วัย 62 ปี (เกิด 9 กันยายน พ.ศ. 2501) วันนี้ยังนั่งเป็น กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

37 ปีก่อนเขาเริ่มปักหมุดเป็นนักกฏหมาย ที่ธนาคารกสิกรไทย จากนั้นขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาต่างประเทศ และวิเทศสัมพันธ์ ทำหน้าที่ Co-General Manager สาขาฮ่องกง

ในปีแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” พ.ศ.2540 “ปรีดี” ปฏิบัติหน้าที่ ​​ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการ และ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมงานสินเชื่อและหลักประกัน

ถัดจากวิกฤติต้มยำกุ้งมาอีก 2 ปี เขาย้ายทักษะการบริหารตามบรรยากาศเศรษฐกิจ โดยขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ และขยับเป็น ​​ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2542

​อีก 2 ปีถัดมา ก้าวขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

3 ปีหลังจากนั้น ขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ในปี 2547

คร่ำหวอดอยู่ในดงผู้บริหาร 7 ปี แล้วขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ทำหน้าที่ผู้ประสานงานภูมิด้านบริหารความเสี่ยง

​เมื่อ 7 ปีก่อนเขาก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสูด คือ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย​

พ่วงท้ายด้วยตำแหน่ง-บรรดาศักดิ์ ทั้งประธานสมาคมธนาคารไทย ในยุคที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่งานในฝ่ายนิติบัญญัติ “ปรีดี” อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ช่วงปี 2559 ด้วย

หากเขาต้องขึ้นเป็น “ขุนคลัง” นั่นหมายความว่า “หัวโต๊ะ” ของบริษัทในเครือกสิกรไทย ต้องหายไป 6 ตำแหน่ง อาทิ ประธานกรรมการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด , ประธานกรรมการ บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด, กรรมการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด, กรรมการ บริษัท เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด, กรรมการ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

โปรไฟล์การศึกษาของ “ปรีดี” มาไกลยิ่งกว่าไกล จากนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ต่อด้วยปริญญา Master of Comparative Law, University of Illinois

นับเป็นหน่อเนื้อของ “กสิกรไทย” มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ในฐานะ นักเรียนทุนของธนาคาร ที่ Urbana-Champaign, U.S.A.

โปรไฟล์ทั้งหมดนี้ย่อมทำให้ “ปรีดี ดาวฉาย” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็น “ขุนคลัง” คนที่ 53 ของประเทศไทย ในโควต้ากลางสายตรงของนายกรัฐมนตรี ได้อย่างสมภาคภูมิ