ธปท. ชี้ เงินบาทผันผวน-สิ้นปีจ่อออกเกณฑ์เทรดทองคำสกุลดอลลาร์ ลดแรงกดดัน

แบงก์ชาติ

ธปท.ย้ำครึ่งปีหลังเงินบาทยังผันผวน เกาะติดเศรษฐกิจต่างประเทศ-การระบาดโควิด-19 ระลอก 2 เผยปีนี้เห็นเกณฑ์คุมเทรดทองคำ ล่าสุด เดินหน้าโครงการใช้เครื่องมือ FX options เฟส 3 หนุนวงเงิน 1 แสนบาท ผู้ประกอบการป้องกันเสี่ยงค่าเงิน

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ยังคงมีความผันผวน ซึ่งยังคงต้องติดตามประเด็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะกลับมารอบ 2 หรือไม่ รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจในต่างประเทศด้วย เพราะจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะขึ้นอยู่กับปัจจัยคาดการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้ ซึ่งในปี 2563 มีทั้งการอ่อนค่าและแข็งค่า โดยในช่วงต้นปีเงินบาทอ่อนค่า เป็นผลมาจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย และส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอ จึงทำให้บาทอ่อนค่า และจะเริ่มเงินบาทแข็งค่า เมื่อไทยมีการควบคุมโรคการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ทำให้จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะแย่มากกลับมามีมุมมองดีขึ้น และหันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ตอนนี้ธปท.อยู่ระหว่างพูดคุยกับธุรกิจค้าทองคำรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติการซื้อขายทองคำ หรือเทรดทองคำ โดยจากเดิมจะทำเป็นสกุลเงินบาททั้งหมด จะให้มาเป็นสกุลดอลลาร์ เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท

“ความผันผวนของค่าเงิน ถือเป็นสัจธรรมและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้ โดยธปท.ได้เข้าไปดูแลไม่ให้ผันผวนหรือเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และเราควรมีวิธีตั้งรับความผันผวน ทั้งการบริหารและป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน หรือธปท.สนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายผ่านการความร่วมมือคู้ค่า เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และในกลุ่ม CLMV เพื่อลดความเสี่ยงค่าเงินได้”

นางสาววชิรา กล่าวต่อไปว่า ล่าสุด ธปท.ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สมาคมธนาคารไทย สถาบันธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุน SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ” เฟสที่ 3 หลังจาก 2 เฟสแรกมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 4,300 ราย

โดยเฟส 3 ผู้ประกอการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดและผ่านการอบรมจะได้รับโอกาสทดลองใช้เครื่องมือ “การประกันค่าเงิน” หรือ FX options เหมือนเช่นโครงการก่อน แต่จะมีขนาดวงเงินค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นเป็น 8 หมื่นบาทต่อกิจการ รวมถึงผู้ประกอบการที่มีการส่งออกหรือนำเข้าในรูปสกุลงินตราต่างประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐฯ อีก 6 สกุลเงิน ได้แก่ ยูโร เยน หยวน ปอนด์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการซื้อ FX options ภายใต้โครงการนี้ได้ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ยังจะได้รับวงเงินสนับสนุนค่ธรรมเนียมการค้าระหว่างประเทศ (Trade-related fees) จำนวน 2 หมื่นบาทต่อกิจการ อาทิ การเปิดหนังสือค้ำประกันการส่งออก L/C หรือการโอนเงิน เป็นต้น

“ในช่วงเฟส 1-2 มีผู้ประกอบการให้ความสนใจกว่า 4,000 ราย จากเดิมเราตั้งเป้าปีละ 5,000 ราย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และช่องทางสื่อสารถึงผู้ประกอบการ และมาเจอโควิด-19 และเราปรับเงื่อนไขให้ง่ายขึ้น เช่น เดิมผู้ประกอบการต้องมานั่งอบรมครึ่งวัน ซึ่งผู้ประกอบการไม่ว่าง ก็ปรับให้มีช่องทางออนไลน์ และช่องทาง e-Leaing โดยเราคาดว่าจะมีคนเข้าร่วมโครงการ 3,000-4,000 ราย”