ศุภวุฒิ หวั่นปมหนี้เสีย-แบงก์เข้มปล่อยกู้ SMEs ทุบจีดีพี Q4

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” คาดเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4/63 ส่อสะดุด ผลพวงปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ส่อแววปูดขึ้น หลังหมดมาตรการผ่อนปรนแบงก์ชาติ หวั่นกระทบยอดปล่อยสินเชื่อชะงัก แบงก์เข้มปล่อยกู้ใหม่ ห่วงมูลหนี้ขนาดใหญ่กว่าวิกฤตปี 40 ด้าน พ.ร.ก.เงินกู้เยียวยาประชาชนยังสะท้อนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแค่ 3% ของจีดีพี

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 จะเป็นจุดที่ต่ำสุด จากปัจจัยการล็อกดาวน์ ปิดเศรษฐกิจ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ชะงักงัน แต่อย่านึกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการดูตัวเลขในบางตัวแปรเท่านั้น โดยตัวแปรที่ผมเป็นห่วงมากกว่าว่าข้างหน้าจะทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้ จากการประเมินของ ธปท.เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่มีปัญหามาขอผ่อนปรนได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาช่วงเดือน เม.ย.63 และถ้าดูตัวเลขจนถึงวันที่ 15 มิ.ย. จะมีประมาณ 12.6 ล้านบัญชี ที่ขอไม่จ่ายดอกเบี้ย และไม่คืนเงินต้น มูลหนี้ประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด สะท้อนปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality) อย่างมาก

ขนาดที่ใหญ่ขณะนี้ทำให้มีความเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะ SMEs ที่มีมูลหนี้มากถึง 2.2 ล้านล้านบาท จำนวน 1.1 ล้านราย ซึ่งเอสเอ็มอีส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และเป็นธุรกิจที่มีสายปานไม่มาก นอกจากนี้จะมี “รายย่อย” อีกประมาณ 11.5 ล้านราย ซึ่งคงจะเป็นพนักงานบริษัทหลายๆ แห่ง หรือผู้ประกอบการแบบ Self-employ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มูลค่าหนี้อีก 3.77 ล้านล้านบาท

“ขนาดของปัญหาตรงนี้บอกได้เลยว่าใหญ่กว่าตอนวิกฤตปี 2540 มาก เพราะตอนนั้นมีคนตกงานประมาณ 1.5 ล้านคน แต่ครั้งนี้พบคนตกงานอยู่แล้วประมาณ 3 ล้านคน ต่อไปอาจจะกลายเป็น 5-6 ล้านคนได้”

คราวนี้ลองนึกภาพในช่วงเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ มาตรการช่วยเหลือของ ธปท.จะหมดลง และให้ธนาคารพาณิชย์ไปบริหารจัดการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะเกิดความเดือดร้อนขึ้นมาว่าหลายๆ กรณีแบงก์อาจจะไม่กล้าที่จะปล่อยกู้เพิ่ม และอาจต้องมีการจัดการ

ในบางกรณีสำหรับลูกหนี้รายย่อย อาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ โดยบอกว่าอาจจะลดหนี้ให้แต่ไม่ปล่อยกู้ใหม่ ไม่ให้เครดิตเพิ่ม ในขณะที่ลูกหนี้เองก็ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ ซึ่งไม่รวมลูกหนี้ SMEs ที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่านั้นที่ต้องปิดตัวลงไป เพราะฉะนั้นดีไม่ดี มีโอกาสได้มากที่ไตรมาส 4/63 เศรษฐกิจจะสะดุดต่อไปอีก

ต่อมาต้องถามว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ นโยบายด้านการคลังที่ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท จะเข้าไปช่วยได้แค่ไหน ซึ่งถ้าดูตัวเลขจริง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เม็ดเงินจากตรงนี้เข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ถึง 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เข้าเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท ที่แจกเงินให้กับคน 25 ล้านคน แต่จะเหลือเงินกู้ซอฟต์โลนให้ SMEs ที่ตั้งเอาไว้ 5 แสนล้านบาท แต่ใช้ไปจริงแค่ 1 แสนล้านบาท และมาตรการ Bond stabilization fund วงเงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ได้ใช้เลย และเงินอีก 4 แสนล้านบาท ที่กำลังให้ ครม.อนุมัติ ตอนนี้อนุมัติไปแค่กว่า 8 หมื่นล้านบาท และใช้จริงยังไม่กี่หมื่นล้านบาท

ฉะนั้นตัวเลขพวกนี้สะท้อนให้เห็นว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐคำนวณดูแล้วจะออกมาแค่ 3% ของจีดีพี เปรียบเทียบกับสหรัฐให้เงินกระตุ้นประมาณ 10% ของจีดีพี และพยายามจะใส่ไปอีก 5% ของจีดีพี ขณะที่สหภาพยุโรปให้เงินกระตุ้นประมาณ 4% ของจีดีพี และแต่ละประเทศใส่อีกคนละ 5-10% ของจีดีพี

ทั้งนี้ ถ้าจะให้ประเมิน worst case scenario ของโรคโควิด-19 คือ มีการแปลงตัวไปในลักษณะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และทำให้เจ้าภาพตายเร็วขึ้น ซึ่งน่ากลัวมากจนอาจทำให้ทั่วโลกอาจต้องชัตดาวน์อีกรอบ แต่จริง ๆ ถามว่าตลาดคาดการณ์อะไรอยู่ ผมคิดว่าตลาดรู้แล้วว่าจะมีวัคซีนอีก 6-12 เดือน ที่จะมีวัคซีนให้เลือกประมาณ 5-7 ประเภทที่จะประสบความสำเร็จ