AMC ผ่อนเกณฑ์ชำระอุ้มลูกหนี้ ยืดจ่ายดอก/แฮร์คัตสูงสุด 40%

ภาพจากเฟซบุ๊ก SAM บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด

“เอเอ็มซี” เดินหน้าอุ้มลูกหนี้อ่วม “โควิด” ยังชำระหนี้เป็นปกติไม่ไหว “SAM” เร่งปรับเกณฑ์ชำระหนี้ใหม่ภายใน ก.ย.นี้ รองรับลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างมาแล้วระลอกหนึ่ง พร้อมแจกกิฟต์โวเชอร์ลดดอกเบี้ย 1% ให้ลูกค้าผ่อนชำระดี ขณะที่ “BAM” งัด 3 มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ชี้รายที่พักชำระไปแล้วยังจ่ายไม่ไหว พร้อมยืดเวลาจ่ายดอกเบี้ยให้ถึงสิ้นปี ฟาก “ชโย กรุ๊ป” ยันไม่เน้นฟ้องร้อง หนุนลูกค้าปิดบัญชี “แฮร์คัต” 20-40%

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เปิดเผยว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งรูปแบบการผ่อนชำระ อัตราดอกเบี้ย-เงินต้น รวมถึงวงเงินผ่อนชำระ เพื่อจัดกลุ่มลูกค้าที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.ที่จะครบกำหนด

โดยนับตั้งแต่ต้นปี-มิ.ย. 2563 มีลูกค้าที่เข้าโครงการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ 700 ราย คิดเป็นภาระหนี้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท สัดส่วนแบ่งเป็น ลูกค้ารายย่อย 60% ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ราว 30% และที่เหลือจะเป็นลูกค้ารายใหญ่

“ตอนนี้ติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือต่อโดยเราจะมีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้สอดคล้องกับลูกค้า ซึ่งคิดว่าลูกค้าทั้ง 700 ราย จะกลับมาทำเงื่อนไขใหม่ในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนลูกค้ารายที่สามารถชำระได้ดีตั้งแต่ เม.ย.-ก.ย. เราจะให้รางวัลเป็นบัตรกำนัล หรือ gift voucher ที่มีลักษณะคล้ายกับการลดดอกเบี้ยให้ 1%” นายนิยตกล่าว

นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า BAM ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 1.การพักชำระหนี้ ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 ซึ่งจบไปแล้ว 2.พักชำระหนี้เงินต้น 3 เดือน และจ่ายดอกเบี้ย 3 เดือน และ 3.ยืดระยะเวลาจ่ายดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี 2563

โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา มีลูกค้ารายใหม่กลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ขอเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ 1,300 รายและมีลูกค้ารายเดิม เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ราว 7,000-8,000 ราย ส่วนลูกค้าที่ขอชำระแต่ดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี พบว่าขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 ราย จากฐานลูกค้า 7,000-8,000 ราย

นายสมพรกล่าวว่า สำหรับลูกค้าประวัติดีและมีกำลังผ่อนชำระ บริษัทใช้ช่วงเวลานี้ในการจูงใจให้นำเงินสดมาปิดบัญชี โดยมีแคมเปญพิเศษ อาทิ การลดดอกเบี้ย หรือลดมูลหนี้ให้เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้จะมาช่วยรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทและช่วยให้มีกระแสเงินสดดีขึ้น

“ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ เราก็ช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ต่อ เช่น พอครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือรอบ 1 และ 2 ยังไม่สามารถกลับมาชำระได้ เราก็มีมาตรการที่ 3 ขยายการชำระดอกเบี้ยไปถึงสิ้นปี เราพยายามช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่” นายสมพรกล่าว

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า มาตรการที่บริษัทให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบ่งเป็น 1.กลุ่มลูกค้าสินเชื่อ บริษัทจะพักชำระหนี้ให้ 3 เดือน โดยไม่ต้องเซ็นสัญญา ทั้งลูกค้าที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และไม่เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างส่วนนี้ราว 300 ล้านบาท 2.กลุ่มธุรกิจรับจ้างเร่งรัดสินเชื่อให้กับสถาบันการเงิน บริษัทจะปรับตามแนวนโยบายหรือคำสั่งของสถาบันการเงิน ซึ่งมีทั้งปรับให้เป็นการทั่วไป หรือกลุ่มลูกค้าที่มีการร้องขอเข้ามา เป็นต้น

3.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือการรับซื้อหนี้เสีย ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าปรับโครงสร้างหนี้ราว 6,000 บัญชี ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่ขอผ่อนผันการชำระหนี้ และขอปิดบัญชี โดยพบว่าปัจจุบันลูกค้าขอปิดบัญชีเฉลี่ย 300-400 รายต่อเดือน ลดลงจากภาวะปกติที่มีมาขอปิดบัญชีราว 600 รายต่อเดือน

นายสุขสันต์กล่าวว่า บริษัทจะให้ความช่วยเหลือทั้งการยืดการชำระหนี้ และลดมูลหนี้ (hair cut) ให้ลูกค้าทุกรายเช่น กลุ่มลูกค้าที่มีหลักประกัน จะลดหนี้ให้เฉลี่ยประมาณ 20% และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจะลดได้เฉลี่ยราว 40% โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ที่ราว 3.3-3.5 แสนรายคิดเป็นสัดส่วนพอร์ตไม่มีหลักประกันประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันราว 1.5 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยมูลหนี้อยู่ที่ 1.2 แสนบาทต่อราย

“ภายในเดือน ก.ย.นี้ บริษัทจะทบทวนลูกค้าที่จะครบกำหนดพักชำระหนี้ไปก่อนหน้านี้อีกครั้ง ซึ่งจะดูว่าลูกค้าต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไรต่อไป หากลูกค้าผ่อนไม่ไหวเราจะยืดระยะเวลาต่อไปให้อีก โดยเราจะไม่เน้นฟ้องร้อง หรือฟ้องร้องเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ลูกค้าเพิกเฉยหรือดูลักษณะไม่มีความต้องการจะชำระหนี้เลย ซึ่งมีไม่ถึง 10% และส่วนใหญ่ที่ดำเนินการฟ้องร้องจะเป็นเคสที่มาจากธนาคารที่ดำเนินการมาก่อนจะมาอยู่กับเรา ซึ่งเราก็ดำเนินการตามขั้นตอนบังคับหลักประกันขายต่อไป” นายสุขสันต์กล่าว