“ไพบูลย์” นำทีมยื่น 7 ข้อเสนอขุนคลัง เติมเสน่ห์ใหม่ให้ตลาดทุนไทย

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย จะไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ก็ตาม ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยที่ผ่านมาก็มีการมองกันว่า หุ้นไทยค่อนข้างไร้เสน่ห์ในสายตานักลงทุนต่างชาติ ทำให้ไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้มากนัก

โดย “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) บอกว่าต้นปีถึงปัจจุบัน (ม.ค.-ก.ค. 63) ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไป 15.9% เฉพาะเดือน ก.ค.ลดลง 0.8% ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) เป็นบวก 8% แต่ก็ถือว่าตลาดหุ้นไทยยังติดลบน้อยกว่าตลาดหุ้นในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ควบคุมโควิด-19 ได้ไม่ค่อยดี

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค. 63) ปรับตัวลดลง 16% อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยนักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษา การถดถอยของเศรษฐกิจ รวมไปถึงกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ออกมาแย่กว่าคาด

“ตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดที่ปรับขึ้นน้อยอยู่ ดังนั้นช่วงที่เหลือของปี หากรัฐบาลจัดการปัญหาในประเทศได้ดีกว่านี้ และมีมาตรการใหม่ ๆ เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วกว่าที่ผ่านมา เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีอัพไซด์ปรับตัวขึ้นไปต่อได้ โดยขึ้นกับนโยบายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ด้วย”

ทั้งนี้ จะเสนอแผนขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้ “ปรีดี ดาวฉาย” รมว.คลังคนใหม่ โดยแบ่งข้อเสนอเป็น 2 มาตรการหลัก ๆ ได้แก่ “มาตรการสร้างเงินออมระยะยาวในตลาดทุนไทย” ประกอบด้วย 1.การต่ออายุกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) อีก 10 ปี หลังจากสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีหมดอายุไป เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. พร้อมเสนอให้ลดระยะเวลาถือครองจาก 10 ปี เหลือ 7 ปี

“ที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนใน SSFX ค่อนข้างน้อย ซึ่งเชื่อว่าถ้าลดระยะการถือครองเหลือ 7 ปี น่าจะมีความเหมาะสม เพราะคล้ายกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) น่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น”

2.ยกเว้นภาษีเงินปันผล กรณีถือครองหุ้นในระยะยาว หรือลงทุนเกิน 1 ปีขึ้นไป เหมือนโมเดลในประเทศจีน

3.แก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และผลักดันร่างกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) โดยขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในช่วงประชาพิจารณ์ หากเร่งดำเนินการตั้งแต่วันนี้ คาดว่าอีก 2 ปีจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ จะเป็นการเอื้อให้เกิดการออมมากขึ้น และจะทำให้แรงงานในระบบกว่า 14 ล้านคน มีเงินออมในวัยเกษียณอย่างเพียงพอ

4.กระตุ้นให้มีการลงทุนตั้งแต่เด็ก โดยผ่านพ่อแม่และนำเงินไปลดหย่อนภาษีเงินได้ ซึ่งจะช่วยสร้างวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาว

และ 5.ปลดล็อกให้สมาคมต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยได้ จากเดิมที่ลงทุนได้แต่เงินฝากกับทางธนาคารเท่านั้น ส่วน “มาตรการพัฒนาตลาดทุนไทยในระยะยาว” ประกอบด้วย 1.ยกระดับสถานะตลาดทุนไทยสู่ระดับภูมิภาค เปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยได้ เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้มีความเข้มแข็งในการเอื้อประโยชน์ภาคธุรกิจที่สามารถเข้ามาระดมทุนโดยได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่งซึ่งจะช่วยขยายเศรษฐกิจได้ดีกว่านี้ แต่ทุกองคาพยพต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย

“เรื่องนี้อาจจะไม่ง่าย แต่เชื่อว่าคุ้มค่า ซึ่งอาจต้องตั้งคณะทำงานใหญ่และเป็นแผนที่ใหญ่เหมือนโครงการ EEC เพื่อให้ตลาดทุนเป็นมาตรฐานเดียวกับระดับนานาชาติ”

และ 2.ช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น โดยภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุน โดยรัฐควรใช้ประโยชน์จากตลาดทุนให้รัฐบาลเข้ามาระดมทุนด้วยการออกตราสารทุนมากขึ้น

“ปัจจุบันผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีไม่ถึง 2 ล้านคน ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้เกิดการออมมากขึ้น”


หากทำได้ทั้งหมดนี้ก็น่าจะสร้างเสน่ห์ใหม่ ๆ ให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีความน่าสนใจ ดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น