ปลดล็อก พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน อาชีพอิสระ-ท่องเที่ยว เข้าถึงเงินทุน

ปลดล็อก พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน อาชีพอิสระ-ธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผุดค้ำประกันสินเชื่อ “ซอฟท์โลนพลัส” รายละ 1.64 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการและทบทวนโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มให้เข้าถึงสินเชื่อตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2563 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ดังนี้

1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส (โครงการใหม่) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 34,700 ราย เฉลี่ยรายละ1.64 ล้านบาท บสย.ค้ำประกันสินเชื่อวงเงินโครงการรวม 57,000 ล้านบาท ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี การค้ำประกันจะเริ่มต้นในปีที่ 3 เริ่มคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินร้อยละ 30 บสย.ต้องขอรับการชดเชยความเสียหายจำนวน 9,120 ล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ภายใต้วงเงินเหลืออยู่อีกจำนวน 18,988 ล้านบาท แบ่งออกเป็น จัดสรรเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก รายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยคงที่ 0.35 ต่อเดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน และจัดสรรวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้สินเชื่อธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.99 ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

3.การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง แบ่งออกเป็น จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาทให้สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง แบ่งวงเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทให้ธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีโดยตรง และขยายขอบเขตคุณสมบัติของเอสเอ็มอีให้ครอบคลุมถึงเอสเอ็มอีทั่วไป และ ปรับวงเงินค้ำประกันต่อรายจากเดิมไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน เพื่อให้รองรับลูกค้าได้มากขึ้น

4.ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลและ 5.ขยายเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 ออกไปถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563