กอช. จับมือ สสว. สร้างเงินบำนาญให้แรงงานนอกระบบ ตั้งเป้าทั้งปีสมาชิกแตะ 2.5 ล้านคน เตรียมออกสมุดคู่ฝากดึงยอดสมาชิกเพิ่ม
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันในการสนับสนุนสร้างหลักประกันบำนาญให้แก่ประชาชนแรงงานนอกระบบ โดยคาดว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลให้สิ้นปี 2563 กอช. มีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.4 ล้านคน และส่งผลให้มีเงินฝากทั้งปีรวม 8.5 พันล้านบาท จากปีที่แล้วอยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท ส่วนผลการตอบแทนจากต้นปีจนถึงสิ้นเดือนก.ค.63 อยู่ที่ระดับ 1.3%
“เดิมตั้งเป้าสมาชิกเพิ่มขึ้น 3 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนไม่มีเงินออม จึงปรับลดสมาชิกเข้าร่วมกองทุนในปีนี้ เหลือ 2.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้า เนื่องจากได้ร่วมมือกับสสว. และเร็วๆ นี้ จะร่วมมือกับธนาคารออมสิน จัดทำสมุดคู่เงินออม ซึ่งจะจูงให้ประชาชาออมเงินเพิ่มขึ้น และแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สมาชิกของกอช. ก็ยังมีการออมเงินต่อเนื่องราว 30% แต่ก็ยังมีสมาชิกถอนเงินออกไปราว 0.1% เนื่องจากไม่มีเงินไปใช้จ่าย”
สำหรับการร่วมมือกับสสว. นั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการจากรัฐบาลได้เข้าถึงการออม โดยผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี เริ่มออมเงินได้ตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทุกครั้งที่สมาชิกส่งเงินออมสะสม รัฐบาลจะเติมเงินสมทบให้ตามช่วงอายุ เช่น อายุ 15-30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี อายุ >30-50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี อายุ >50-60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี
ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ขณะนี้ สสว. มีเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกอยู่กว่า 3 ล้านคน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว มีเอสเอ็มอีนอกระบบที่เข้าเกณฑ์ออมเงินกับกอช. ได้ราว 7.9 หมื่นราย โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะเริ่มเข้ามาออมเงินกับกอช. ได้เลย ซึ่ง กอช. จะเข้าไปให้ความรู้ผู้ประกอบการ ให้มีความเข้าใจการบริหารเงินทางธุรกิจ (Financial Literacy) ทำให้มีการวางแผน และบริหารจัดการเงินของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งในด้านการใช้จ่าย การออมเงิน และการจัดการหนี้สิน ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินที่สำคัญ ภายใต้ความร่วมมือนี้มีเป้าหมายผู้ประกอบการรายย่อยที่ให้ความสำคัญ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว. กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก สสว. แล้ว แต่ยังไม่ได้ออมเงินกับ กอช. และกลุ่มสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกทั้ง สสว. และ กอช.
โดย สสว. และ กอช. จะดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพให้แก่สมาชิกร่วมกัน โดยเน้นการฝึกอาชีพที่มีความต้องการของตลาดหรือพื้นที่นั้น ๆ โดยจะคัดเลือกพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสงขลา ขอนแก่น และปทุมธานี เพื่อเป็นการต่อยอดให้สมาชิกสามารถมีธุรกิจการให้บริการได้ในพื้นที่นั้นๆ อนึ่ง ในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ สสว. ยังมีโครงการต่าง ๆ ที่จะพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการเติบโตของกลุ่ม Micro ให้เติบโตได้ตามวงจรธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายที่ปรึกษาและผู้ประกอบการไปด้วยกัน