‘วิรไท’ แชร์สูตรดันนโยบายเศรษฐกิจสำเร็จ ยกตัวอย่างเคส ‘พร้อมเพย์’

ภาพประกอบข่าว พร้อมเพย์-ระบบชำระเงิน-แตะจ่าย
Photo by Jonas Leupe on Unsplash

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แบไต๋เบื้องหลังความสำเร็จผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ยกกรณีพร้อมเพย์เป็นบทเรียน ชี้เทคโนโลยีพร้อม แต่ดีลผลประโยชน์กับธนาคารพาณิชย์ยากที่สุด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน “BOT SYMPOSIUM 2020 ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” ในการเสวนาช่วง “Restructuring the Thai Economy” ว่า หนึ่งงานที่สำคัญในช่วงที่ตนอยู่ในวาระคือการผลักดัน “พร้อมเพย์” (Prompt Pay) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบชำระเงินของประเทศ โดยการผลักดันโครงการดังกล่าวมีหลายมิติที่ ธปท.จะต้องพิจารณา โดยเฉพาะผลกระทบต่อสถาบันการเงิน

ผู้ว่าฯ เท้าความว่า เดิมทีการชำระเงินในประเทศไทยมีปัญหาใหญ่อยู่ คือ การบินเบือนต้นทุนที่แท้จริง (Distortion) โดยเริ่มจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธนาคารหลายแห่งหันมาให้บริการลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เนื่องจากการให้บริการแบบเจาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่แบบเดิมก่อนวิกฤตมีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้ธนาคารมีการแข่งกันเปิดสาขาและตู้เอทีเอ็ม อย่างไรก็ดี ต้นทุนการใช้บริการสาขาธนาคารของไทยค่อนข้างสูงมากประมาณ 130 บาท/ธุกรรม ขณะที่ต้นทุนการใช้ตู้เอทีเอ็มอยู่ที่ประมาณ 27 บาท/ธุรกรรม

แม้ว่าในภายหลังจะมีการพัฒนาการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบรอิเล็กทรอนิกส์ แต่พบว่าต้นทุนที่ลูกค้าจะต้องจ่ายกลับค่อนข้างสูง เช่น 25 บาท/ธุรกรรม ในกรณีที่โอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างธนาคาร เนื่องจากแต่ละธนาคารยังต้องแข่งกันกันเพื่อนำเงินไปถัวเฉลี่ยกับต้นทุนการให้บริการแบบเดิมที่ค่อนข้างสูง รวมถึงระบบหลังบ้านมีการคิดค่าธรรมเนียมเพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างธนาคาร (Spaghetti Bowl Effect) ดังนั้น ธปท.จึงต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อให้การโอนเงินกลายเป็นบริการพื้นฐาน และต่อยอดให้เศรษฐกิจไทยกลายเป็นเศรษฐกิจแบบดิจิทัลได้ต่อไป

นอกจากนี้ ธปท.ประกาศชัดเจนว่าไม่มีนโยบายการแบนเทคโนโลยีชำระเงินต่างประเทศ อย่างเช่นกรณี WeChat Pay ในอดีตที่จับมือกับภาคเอกชนเพื่อให้บริการลูกค้าต่างชาติในไทย โดยชี้ว่าประเทศไทยไม่สามารถแบนเทคโนโลยีได้ แต่หากผู้ให้บริการอยากรักษาอธิปไตยในการโอนเงินในประเทศก็จะต้องทำให้ดีกว่าการโอนเงินของผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมถึงการทำระบบใหม่ต้องมีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่โปร่งใส ห้ามมี Spaghetti Bowl ที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนอิเล็กทรอนิกส์ และจะต้องเป็นระบบที่เปิดกว้างที่ผู้ให้บริการรายอื่นสามารถเข้ามาเชื่อมต่อได้ เช่น e-Wallet เป็นต้น

“เราใช้เวลาพูดคุยกับสถาบันการเงินค่อนข้างนาน แม้เทคโนโลยีจะพร้อม แต่ผลประโยชน์ค่าธรรมเนียมเป็นสิ่งที่ทำให้สมดุลยาก ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดของธนาคารที่จะต้องตั้งเป้าให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด และทำให้สถาบันการเงินเข้าใจว่าตนเองจะได้ผลประโยชน์ระยะยาว เช่น ต้นทุนการให้บริการการเงินแบบเดิมที่จะลดลง เป็นต้น” นายวิรไท กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุดพร้อมเพย์มียอดลงทะเบียนสูงถึง 150 ล้านบัญชี และมียอดการใช้งานประมาณ 20 ล้านรายการ/วัน ซึ่งผลการตอบรับดังกล่าวใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีเศษ