“ปลัดคลัง” ขึงกรอบวินัยการคลัง 5 ปี กู้ 1 ล้านล้าน หนี้สาธารณะไม่เกิน 60%

กระทรวงการคลัง

“ปลัดคลัง” ขึงกรอบวินัยการคลัง 5 ปี กู้ 1 ล้านล.หนี้สาธารณะไม่เกิน 60% มั่นใจเก็บรายได้ปี’64 เข้าเป้า ฟาก “สศค.” เข้าหารือ “รองนายก” เย็นนี้สรุปมาตรการระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอ ศบศ.พุธหน้า

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เช้านี้(2 ต.ค.63) ได้เรียกหน่วยงานทุกแห่งภายใต้สังกัดกระทรวงคลังมาหารือมาตรการดูแลเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยเป้าหมายหลักต้องดูแลเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งด้านภาษี งบประมาณรายจ่าย และมาตรการสินเชื่อ ต้องทำออกมาให้ชัดเจนและให้ถูกฝาถูกตัว

อย่างไรก็ดีได้รับรายงานถึงแผนการจัดเก็บรายได้ของแต่ละส่วนงาน หลายหน่วยงานทำได้ดี ยืนยันว่าเป้าจัดเก็บรายได้ในปี 2564 จะได้ตามเป้าที่ 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ ซึ่งถ้าดูแล้วเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าจัดเก็บจริงปี 2562 ส่วนปี 2563 เป็นปีที่ไม่ปกติจากช่วงโควิด แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเก็บได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาส ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ข้างหน้าเศรษฐกิจเติบโตเป็นอย่างที่คิดไว้หรือไม่ ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินจีดีพีปีหน้าเติบโตที่ 4-5% ยังไม่นับรวมการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

โดยเบื้องต้นหลายๆ องค์กรคาดการณ์เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เห็นจากยอดขายรถยนต์หดตัวเหลือติดลบ 3% จากระดับติดลบ 20% สินค้าเกษตรยังดี และการค้าขายส่งออกไปประเทศสหรัฐและจีนก็ดีขึ้น

นอกจากนี้ได้คุยกับทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ยืนยันชัดว่าแผนกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี สัดส่วนหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี โดยประมาณการอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพี เพื่อรักษาความยั่งยืนทางวินัยการเงินการคลัง ซึ่งยังมีช่องว่างที่จะกู้ขาดดุลในแต่ละปีได้ ซึ่งปัจจุบันกู้ขาดดุลเฉลี่ยปีละ 2.8-2.9% ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ดีเย็นวันนี้(2 ต.ค.63) ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) จะเข้าไปหารือกับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อสรุปรายละเอียดมาตรการระยะสั้น ทั้งที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติออกมาแล้วหรือจะเป็นมาตรการทางภาษีที่จะกระตุ้นคนชั้นกลาง เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบศ.) ในวันพุธหน้า(7 ต.ค.63)

“สำหรับโครงการ “คนละครึ่ง” ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนช่วงวันที่ 16 ต.ค.นี้ ก็ได้สั่งให้ดูแลระบบให้ดี เพราะเคยทำโครงการลักษณะแบบนี้แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นร่วมจ่าย(co-pay) คนอาจจะไม่เยอะเหมือนครั้งก่อน แต่อย่างไรก็ตามคงมีคนที่เกิดปัญหา(error technical) เข้าระบบไม่ได้ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ต้องอำนวยความสะดวกเข้าไปพิทักษ์สิทธิ์ ผ่านความช่วยเหลือของทางหน่วยงานต่างๆ ที่สังกัดกระทรวงคลัง ใครอยู่ตรงไหน ใกล้ตรงไหน ก็ไปขอความช่วยเหลือได้

ต่อไปวิธีการทำงานต้องเป็น “ทีมกระทรวงคลัง” เพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงต้องอัพเดทเรื่องไอทีรองรับการดำเนินงานด้วย” นายกฤษฎากล่าว