ต่างชาติชิงตั้งกองทุนไล่ซื้อโรงแรม ประเดิม 2.5 พันล้าน เล็งทำเลเมืองท่องเที่ยว

ต่างชาติเปิดเกมชิงตั้งกองทุนไล่ซื้อโรงแรมไทย “เดซติเนชั่น แคปปิตอล” จ่อเปิดตัวกองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน 15 ต.ค.นี้ เล็งเป้า “โรงแรม-รีสอร์ต” ย่านทำเลเมืองท่องเที่ยว “กรุงเทพฯ-พัทยา-หัวหิน-ภูเก็ต” ที่มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว ตั้งเป้าประเดิมก้อนแรก 2.5 พันล้านบาท ปักธงผลตอบแทนสูง 15%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “KTBST SEC” ได้แจ้งกำหนดการว่า ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จะร่วมกับบริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล จำกัด (DC) แถลงเปิดตัวกองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน “DESCAP 1 Private Equity Trust” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการให้ข้อมูลว่ากองทรัสต์ดังกล่าว จะเข้าซื้อกิจการโรงแรมและรีสอร์ตที่ได้กรรมสิทธิ์ 100% (freehold) ในทำเลเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ประกอบด้วยกรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน และภูเก็ต ที่มีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วที่สุดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กองทรัสต์ดังกล่าว อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมูลค่าจัดตั้งกองทรัสต์เป้าหมายอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดให้ผู้ลงทุนชาวไทยและต่างชาติที่สนใจจองซื้อหน่วยทรัสต์ภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีระยะเวลาการลงทุน 5 ปี และขยายเวลาลงทุนได้อีกไม่เกิน 2 ปี และมีผลตอบแทนเป้าหมายที่ 15% ต่อปี

สำหรับโมเดลธุรกิจ จะเป็นลักษณะร่วมทุนพัฒนาธุรกิจ เพื่อเข้าไปซื้อกิจการ รีสอร์ต และโรงแรมในเมืองใหญ่ และนำมาปรับปรุงตกแต่ง (renovate) พร้อมเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด (reposition) และปรับภาพลักษณ์แบรนด์ (rebrand) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์ เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงขึ้น และนำกำไรจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนในกองทรัสต์ (ผู้ถือหน่วยทรัสต์)

นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน investment banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งกองทุนลักษณะดังกล่าวเช่นกัน เบื้องต้นมีบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แสดงความสนใจเข้ามา เนื่องจากในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ผู้ประกอบการทุกรายล้วนมองหาช่องทางการแก้ปัญหาสภาพคล่อง เพื่อประคองธุรกิจของตน

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อติดขัดเล็กน้อยระหว่างการเสนออัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง การจูงใจนักลงทุน และมูลค่าระดมทุนที่เจ้าของเดิมเต็มใจที่จะขายสินทรัพย์เข้ากองทุน โดยหากผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็จะค่อนข้างสูงเช่นกัน ซึ่งต้องเสนอขายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (high networth) เท่านั้น แต่หากมีเครื่องมือจำกัดความเสี่ยง ก็เป็นไปได้ที่จะสามารถขายให้กับนักลงทุนรายย่อยได้

“กองทุนที่เราศึกษาอยู่ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนหรือสามารถจัดตั้งได้ในปีหน้า(ปี 2564) ซึ่งลักษณะธุรกิจที่จะเข้ามาระดมทุน อย่างที่บอกว่ามีทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งลงทุนเสร็จ หรือเพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่นาน แต่รายได้หายไปจากผลกระทบโควิด-19” นางสาววีณากล่าว

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการโรงแรมบางรายเข้ามาคุยกับบริษัท แต่เนื่องด้วยรายละเอียดยังไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลอะไรได้มากนัก ซึ่งปัจจุบันมีความชัดเจนในส่วนของกองทุนที่จะจัดตั้งแล้ว โดยจะจัดตั้งเป็นกองรีท อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญที่ บลจ.ต้องบริหารจัดการ ได้แก่ ราคาที่ผู้ขายพึงพอใจ และผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนพึงพอใจ หากทั้ง 2 ส่วนนี้สอดคล้องกัน ก็สามารถจัดตั้งกองทุนได้ทันที

“กองทุนที่เรากำลังจัดตั้ง ยังไม่แน่ใจว่าจะขายนักลงทุนกลุ่มไหน หากเป็นนักลงทุนรายย่อย คงต้องการผลตอบแทนปกติตามตลาด แต่ถ้าเป็นนักลงทุนรายใหญ่อาจจะมองผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าผลตอบแทนในตลาด เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์จะต่างกันไป ซึ่งต้องดูค่าเฉลี่ยผลตอบแทนกองรีทในตลาดว่าจะตอบสนองได้หรือไม่” นางชวินดากล่าว

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด และในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า เนื่องจากกองรีทที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น เพื่อเข้าซื้อกิจการโรงแรมในประเทศไทย เป็นกองทุนที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยเปิดในเจ้าของกิจการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องเข้ามาลงทุน ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษสำหรับเจ้าของในการซื้อคืนในระยะถัดไป ดังนั้น จึงยังต้องใช้เวลาในการหารืออีกพอสมควร