ธปท. ถอดสลักวิกฤตหนี้เสีย SME 1.6 หมื่นรายโคม่าแบงก์จ่อฟ้อง

เอ็นพีแอล-แบงก์ชาติ-หนี้เสีย

แบงก์ชาติถอดสลักวิกฤตหนี้เสีย หลังสิ้นสุดพักหนี้ 22 ต.ค.ต่อเวลาแช่แข็งถึงสิ้นปีཻ ให้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้-แก้สัญญา แบ่ง 4 กลุ่มตามอาการ SMEs 1.6 หมื่นราย มูลหนี้ 5.7 หมื่นล้าน ติดต่อไม่ได้-ปิดกิจการ เกือบ 40% ต้องเข้ากระบวนการแก้หนี้ด่วน เปิดช่องให้แบงก์พักหนี้กลุ่มอาการหนักอีก 6 เดือน

ชง ศบศ.ตั้งรับวิกฤตหนี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 21 ต.ค.นี้จะมีการเสนอที่ประชุม ศบศ.พิจารณาแนวทางรับมือมาตรการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ เพื่อดูแลลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการทั้งสิ้นราว 12 ล้านบัญชี โดยจากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินได้จำแนกลูกหนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม

คือกลุ่มสีเขียว เป็นกลุ่มที่คาดว่าจะกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่ง ธปท. ประเมินว่ามีราว 60% กลุ่มสีเหลือง เป็นกลุ่มที่อาจจะยังไม่แข็งแรง โดยการช่วยเหลือกลุ่มนี้ต้องหารือกันว่า จะช่วยเหลือแบบใด ซึ่งอาจจะยืดหนี้ หรือปรับเทอมชำระหนี้ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ และกลุ่มสีแดงที่ดูแลธุรกิจไปต่อไม่ได้ ก็อาจจะต้องช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้กลุ่มแบงก์ไม่สามารถติดต่อได้อยู่ราว 5-6% ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องเชิงธุรกิจที่แบงก์จะพิจารณา

1.6 หมื่นรายเสี่ยงปิดกิจการ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ที่ได้รับการพักหนี้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีจำนวนลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เข้าโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้ราว 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ 9.5 แสนล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ วงเงิน 4 แสนล้านบาท จำนวน 7.8 แสนบัญชี

ทั้งนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ได้มีการพูดคุยกับลูกค้าแล้วประมาณ 94% ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 50% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้หลังมาตรการจบลง ส่วนที่เหลือยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อ และมีประมาณ 6% วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนลูกหนี้ 1.6 หมื่นบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ เช่น โทรหาไม่เจอ ปิดกิจการ หรือย้ายที่อยู่ เป็นต้น

“ธปท.อยากขอความร่วมมือลูกหนี้ที่ยังไม่ได้พูดคุยกับธนาคารให้เข้ามาเจรจาภายใน 31 ธันวาคมนี้ โดยลูกค้าจะได้รับการคงสถานะพักหนี้ไว้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอล”

โดย ธปท.ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ และ ธปท.ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดสอดคล้องกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย

มาตรการใหม่แบ่ง 4 กลุ่ม

สำหรับมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้หลังจากนี้จะเป็นมาตรการรองรับลูกหนี้แต่ละกลุ่มตามอาการซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม (กราฟิกประกอบ) โดยธนาคารและลูกหนี้เจรจาผ่อนชำระแบบเดิมหรือแบบใหม่ได้ รวมถึงการพักชำระหนี้สามารถทำได้เช่นกัน แต่เป็นการพิจารณาเป็นราย ๆ ไม่ได้พักหนี้เป็นการทั่วไป และจำกัดไม่เกินกรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 หรือภายใน 30 มิ.ย. 2564

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า หากมีการพักหนี้ต่อเป็นการทั่วไป จะกระทบต่อสภาพคล่องที่เข้ามาหมุนเวียนในระบบธนาคารพาณิชย์ราว 2 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากธนาคารไม่ได้รับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งจะกระทบต่อเม็ดเงินการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้ารายใหม่ รวมถึงในระยะข้างหน้าจะผลักให้ต้นทุนการกู้ยืมในระบบสูงขึ้น

“ที่หลายคนกังวลว่าจะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) หรือตกหน้าผาหนี้ แต่จากข้อมูลแบงก์พบว่าลูกหนี้ 94% ที่มีการพูดคุยกันแล้วสามารถไปต่อได้ ไม่ตกหน้าผา เพราะแบงก์มีมาตรการรองรับไว้แล้ว จะมีเพียง 6% ที่กังวลเพราะติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ จึงอยากให้กลุ่มนี้เข้ามาเร่งเจรจา เพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อ แต่หากหาลูกหนี้ไม่เจอจริง ๆ คงต้องตั้งสำรองและทำตามกระบวนการต่อไป”

ออกชุดมาตรการเพิ่ม

นางรุ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยการแก้ปัญหาข้างหน้าอาจจะเห็นชุดมาตรการทยอยออกมา เช่น การสร้างแรงจูงใจให้ธนาคาร ซึ่งต้องพิจารณาตามภาวะและปัจจัยต่าง ๆ หรือการแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาทของ ธปท.ที่อาจจะต้องผลักดันให้ใช้ต่อ โดยการดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยประกบกับมาตรการ หรือจัดเป็นแพ็กเกจมาตรการออกมา หรือมาตรการเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม เป็นต้น

ตัดขายหนี้ตั้ง “แวร์เฮาซิ่ง” รับ

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวทางมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะข้างหน้า หลังจากมาตรการพักชำระหนี้ครบกำหนดในปลายเดือนตุลาคมนี้ แนวทางมาตรการจะออกมาในลักษณะแพ็กเกจ ทั้งการพักชำระหนี้ และการแก้ไขหลักเกณฑ์ของวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อให้สามารถส่งต่อสภาพคล่องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้มีประสิทธิผลและตรงจุดมากขึ้น

นอกจากนี้ ธปท.มีแนวคิดเรื่องของการบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยจะใช้แนวคิด “ware housing” ซึ่งต้องขอรายละเอียดและความชัดเจนอีกครั้ง

BBL ตั้งรับเร่งแก้สัญญา

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แบงก์กรุงเทพได้เตรียมปรับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้รอไว้ก่อนที่มาตรการพักหนี้จะครบกำหนดแล้ว ซึ่งเงื่อนไขใหม่จะมีหลายรูปแบบ เช่น กลุ่มที่ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน กลุ่มที่ให้ลดจ่ายต่องวด หรือปรับตามรายได้และกระแสเงินสดของลูกหนี้ เป็นต้น

จากการสำรวจลูกค้าเอสเอ็มอีประมาณ 70% พร้อมกลับมาชำระหนี้ตามปกติ อีก 30% ธนาคารจะปรับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ตามศักยภาพและอาการของลูกหนี้รายนั้น ๆ อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ถ้าโรงแรมที่เปิดให้บริการและจับกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย กลุ่มนี้น่าจะดำเนินธุรกิจพอไปได้อาจไม่ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ต้องเสริมสภาพคล่อง ส่วนโรงแรมที่ยังไม่กลับมาเปิด ไม่มีรายได้เข้ามากลุ่มนี้คงต้องปรับโครงสร้างหนี้ต่อ

“แบงก์ได้ดำเนินการปรับเงื่อนไขการช่วยเหลือไว้รอลูกหนี้อยู่แล้ว แต่ลูกหนี้ต้องให้ความร่วมมือด้วย เพราะหากไม่ติดต่อหรือหายไป อาจจะต้องส่งเรื่องดำเนินคดีฟ้องร้องตามกระบวนการต่อไป” นายศิริเดชกล่าว

ยืดชำระหนี้ยาว 7 ปี

ด้านนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากที่สำรวจติดตามลูกหนี้พบว่ากลุ่มเอสเอ็มอี 60-70% ไม่ต้องการความช่วยเหลือและธุรกิจไปต่อได้ ที่เหลือ 30-40% ยังต้องการความช่วยเหลือ ธนาคารจะมีแพ็กเกจให้ เช่น กลุ่มที่พร้อมกลับมาจ่ายบางส่วนก็จะมีโปรแกรมจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยถึงปี 2564 หรือขยายเทอมการชำระหนี้ยาวถึง 7 ปี หรือลูกค้ามีสินเชื่อส่วนบุคคลสามารถนำมารวมกับสินเชื่อเอสเอ็มอีและปรับเทอมการชำระได้ สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบน้อย และต้องการสภาพคล่องธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อใหม่ หรือดึง บสย.มาร่วม

“ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจะมีแพ็กเกจพักชำระหนี้เป็นการพักหนี้คราวละไม่เกิน 6 เดือน และกลับมาดูอาการลูกค้าอีกครั้ง เพราะพักหนี้ยาวลูกค้าจะขาดการติดต่อไปเลย และลูกค้าจะต้องเข้าใจว่าการพักหนี้ดอกเบี้ยยังคงเดินไปเรื่อย ๆ เช่น กลุ่มโรงแรม หากประเมินว่า 1 ปี นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับมา ลูกหนี้อาจขอต่อการพักหนี้ก่อนแค่ 6 เดือน และค่อยมาดูอาการ หากยังไม่ไหวก็ต่ออีก 6 เดือน แบบนี้น่าจะดีกว่า” นายสุรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกหนี้ที่ติดต่อไม่ได้หรือปิดกิจการไปแล้วราว 400 แห่ง กลุ่มนี้อาจจะต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อไป

SCB จัดแพ็กเกจอุ้มลูกค้า

ขณะที่นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารได้เข้าไปคุยกับลูกค้าทุกคนทุกกลุ่มว่าติดปัญหาตรงไหน จากการสำรวจพบว่าลูกค้ารายย่อยประมาณ 70% มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ได้แล้ว

ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีเกินกว่า 50% ส่งสัญญาณไม่ต้องการความช่วยเหลือต่อ สำหรับกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือธนาคารจะพิจารณาตามรายธุรกิจ เพราะบางรายไม่ต้องการความช่วยเหลือเต็มรูปแบบ เช่น สามารถกลับมาจ่ายได้บางส่วน ธนาคารจะมีแพ็กเกจช่วยเหลือตามศักยภาพลูกค้า หรือกลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักอาจจะยืดระยะเวลาการชำระออกไป เพื่อรอสถานการณ์การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา เป็นต้น

“ตอนนี้หลายฝ่ายพยายามช่วยเหลือให้ทุกคนสามารถฝ่าวิกฤตไปได้ จะเห็นว่า ธปท.และหลายฝ่ายกำลังหารือเรื่องการตั้งกองทุนพิเศษมาช่วยซัพพอร์ต ซึ่งต้องติดตามว่าจะออกมาในรูปแบบไหน”นายอารักษ์กล่าว

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากสิ้นสุดพักหนี้เป็นการทั่วไป ทางทีเอ็มบีได้เตรียมความช่วยเหลือลูกค้า โดยจะพิจารณาลูกค้าเป็นรายตามความจำเป็นและอาการของลูกค้า ทั้งยืดการชำระหนี้ หรือเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น ซึ่งความช่วยเหลือจะดูตามลักษณะลูกค้าและเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบมากหรือน้อย อย่างไรก็ดีจากการสำรวจลูกค้าส่วนใหญ่พบว่าทยอยกลับมาชำระได้แล้ว

ถกตั้งกองทุนอุ้มโรงแรม

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมร่วมกับ สศช.เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นอกจากเรื่องมาตรการพักหนี้ที่แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนคือจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เพิ่มอัตราชดเชยความเสียหายจากเดิม 30% เป็น 40%

รวมถึงมีการพิจารณาเครื่องมือใหม่ที่จะเป็นกลไกการบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อให้ทำหน้าที่รวมหนี้ได้

“นอกจากนี้กลไกแก้หนี้ต้องมีเงินทุนเป็นซอฟต์โลนด้วย อาจต้องใช้เงินเป็นหลักล้านล้านบาท เพราะต้องไปเอาหนี้ออกมาจากธนาคาร โดยธนาคารจะออกตั๋วแลกเงินให้ ซึ่งแหล่งเงินยังต้องดูว่าจะมาจาก ธปท.หรือรัฐบาล” แหล่งข่าวกล่าว

สุดท้ายเป็นการดูแลธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม ที่มีข้อเสนอตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลเหมือนกับช่วงที่เกิดสึนามิ ซึ่งอาจต้องใช้เงิน 2-3 แสนล้านบาท เพื่อช่วยดูแลเรื่องการจ่ายดอกเบี้ย และไม่ให้ถูกบังคับขายทอดตลาด โดยเปิดโอกาสให้เจ้าของกิจการซื้อคืนได้ใน 5-10 ปี แต่จะต้องเลือกธุรกิจรายที่ยังมีศักยภาพสามารถฟื้นได้ รวมถึงต้องดูว่าจะช่วยกลุ่มใดบ้าง เพราะผู้ประกอบการมี 1.8 ล้านราย แต่มีใบอนุญาตถูกต้องแค่ 8 แสนราย

เสนอลดดอกเบี้ยลูกหนี้ดี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอ ส.อ.ท.คือการขอให้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ 3 กลุ่ม คือ สีเขียว กลุ่มที่มีความพร้อมจ่ายหนี้และดอกเบี้ย เป็นกลุ่มเด็กดี ควรมีการให้แรงจูงใจ โดยลดดอกเบี้ยให้ประมาณ 1% กลุ่มนี้มีประมาณ 40-50% กลุ่มสีเหลืองที่ยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้แต่ขอพักชำระเงินต้นไว้ก่อน ประมาณ 20-30% โดยขอขยายเวลาพักหนี้ออกไป 2 ปี และกลุ่มสีแดงที่ไม่สามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยได้ มีประมาณ 10% เป็นกลุ่มน่าห่วงที่สุดต้องเข้าไปดูว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างไร

“ส.อ.ท.จะมีการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยว่ารับได้ไหม ซึ่งเรามองว่าการลดดอกเบี้ย 1% ไม่กระทบรายได้แบงก์มากนัก แต่คุ้มที่จะให้แรงจูงใจ แต่หากรัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือชดเชยดอกเบี้ยส่วนนี้ให้ก็อาจจะต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ว่าจะใช้งบประมาณมาช่วยชดเชย”

โรงแรมร้องขอเปิดประเทศ

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สทท.พยายามผลักดันนำเสนอปัญหาให้ภาครัฐพิจารณา 3 ประเด็นหลักคือ 1.ให้รัฐเร่งเยียวยาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องขยายเวลาพักหนี้ออกไปอีก 6 เดือน

รวมถึงการตั้งกองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการตอนนี้ทางเอกชนก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการพักชำระหนี้ ขณะที่ธุรกิจก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเริ่มกลับมาเมื่อไหร่ ตอนนี้เอกชนท่องเที่ยวจึงหันมาผลักดันให้รัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มประเทศที่ไม่มีการแพร่ระบาดเกิน 60 วัน เพื่อเป็นการเปิดช่องให้เอกชนได้ช่วยเหลือตัวเอง

เช่นเดียวกับนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า สมาคมได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจาณาพักชำระหนี้ไปอีก 6 เดือน-1 ปี ตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา


นอกจากนี้ยังได้นำเสนอให้รัฐผลักดันการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยเร็ว รวมทั้งสร้างความเข้าใจเรื่องการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติในแต่ละกลุ่มกับคนไทยในพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่