ข่าวดี! ธปท.ต่อเวลา “พักหนี้” ให้ถึงสิ้นปี 2563 ไม่ถูกปรับเป็น “เอ็นพีแอล”

ธปท. ประกาศต่อเวลา “พักหนี้” ถึงสิ้นปี 2563 ให้แบงก์คงสถานะลูกหนี้ไม่ถูกปรับเป็น “เอ็นพีแอล” เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ นับหนึ่งใหม่ ม.ค. 2564 พร้อมเปิดทางให้กลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายไหว ขอพักหนี้ต่อได้ถึงสิ้น มิ.ย. 2564

งัดแผนแก้หนี้ครบวงจร

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวทางแก้ปัญหาจะต้องปรับจากการใช้มาตรการปูพรมแบบเหมาเข่ง เนื่องจากช่วงแรกปัญหามาเร็วและแรง ทำให้การดำเนินมาตรการทั้งในส่วนนโยบายการเงิน-การคลังต้องทำแบบปูพรม แต่ปัจจุบันบริบทเศรษฐกิจ-การฟื้นตัวเปลี่ยนไป จึงต้องปรับจาก “ปูพรม” เป็น “targeted” ตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร

“โจทย์ไม่ใช่เฉพาะการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ต้องมองไปใน 2 ปีข้างหน้าว่าจะเจออะไรบ้าง และจะมีเครื่องมืออะไรมารองรับ ไม่ใช่แค่การแช่แข็งหนี้และให้สินเชื่อ แต่ต้องทำให้การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเร็ว และท้ายที่สุดวิธีการจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รวมถึงต้องมีเครื่องมือครบและหลากหลาย เพราะปัญหายาวและมีความไม่แน่นอนสูง”

ต่อเวลาให้ลูกหนี้ถึงสิ้นปี

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องคิดถึงผลข้างเคียงด้วย เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาระยะสั้นบั่นทอนการฟื้นตัวในระยะยาว เช่น มาตรการพักหนี้ที่จะสิ้นสุด 22 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นประกาศช่วงที่มีการล็อกดาวน์ จึงแช่แข็ง แต่เวลาผ่านไปมีการฟื้นตัว ทำให้การแช่แข็งไม่ใช่โจทย์ จึงหันมาทำมาตรการให้ตรงจุด และแยกแยะ เช่น คนที่ผ่อนไหวผ่อนได้ หรือกลุ่มคนที่ชำระไม่ได้ก็มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และให้เวลามาคุยกับธนาคารถึงสิ้นเดือน ธ.ค. หรือกลุ่มคนที่มีปัญหากระแสเงินสดก็สามารถคุยกับธนาคารเพื่อต่อมาตรการพักชำระหนี้ได้ 6 เดือน ถึง มิ.ย. 2564

“ผลข้างเคียงมีเยอะ และหากเราสร้างแรงจูงใจไม่ได้ จะกลายเป็นวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ moral hazard ซึ่งอันตรายมาก และขยายวงกว้างจะไม่ดีต่อระบบ และหากพักหนี้นาน 1 ปี กระแสเงินสดจะหายไปจากระบบปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะเราต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วยนอกจากลูกหนี้ เช่น ผู้ฝากเงิน สถาบันการเงิน และ ธปท.จะมีแนวทางอื่น ๆ ที่จะทำให้สอดคล้อง แต่แนวทางการดูแล ยาที่จะออกมาเพิ่มเติมกำลังดูอยู่ ต้องใช้เวลา ไม่สักแต่คลอดมาตรการ แต่ยาต้องได้ผลด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีความเร่งด่วน”

คงสถานะลูกหนี้ไม่ถูกปรับ “เอ็นพีแอล”

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ที่ได้รับการพักหนี้ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เข้าโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้ราว 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ 9.5 แสนล้านบาท ลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ วงเงิน 4 แสนล้านบาท จำนวน 7.8 แสนบัญชี

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์สามารถติดต่อพูดคุยกับลูกค้าได้แล้ว 94% ซึ่งในจำนวนนี้ราว 50-60% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้หลังสิ้นสุดมาตรการ ส่วนที่เหลือยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อ และมีประมาณ 6% วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนลูกหนี้ 1.6 หมื่นบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ เช่น โทรหาไม่เจอ ปิดกิจการ หรือย้ายที่อยู่ เป็นต้น

“ธปท. อยากขอความร่วมมือให้ลูกหนี้ที่ยังไม่ได้พูดคุยกับธนาคาร ให้เข้ามาเจรจาภายใน 31 ธันวาคมนี้ โดยลูกหนี้จะได้รับการคงสถานะพักหนี้ไว้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอล”

โดย ธปท.ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานะจัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เท่ากับว่านับจากวันที่ 23 ต.ค. ถึง 31ธ.ค. 2563 หากลูกหนี้อยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ก็จะได้รับสิทธิในการพักชำระหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว และจะไม่ถูกปรับเป็น “เอ็นพีแอล” กรณีที่ยังไม่มีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยจะมีการเริ่มต้นนับหนึ่งในการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564

สำหรับมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้หลังจากนี้จะเป็นมาตรการรองรับลูกหนี้แต่ละกลุ่มตามอาการ ซึ่งขณะนี้ลูกหนี้แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการซึ่งมีกว่า 60% ของยอดหนี้ 2. กลุ่มที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ให้สถาบันการเงินดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถลูกหนี้

3. กลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ หลังหมดโครงการ ธปท. ให้แบงก์ขยายเวลาพักหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 หรือภายใน 30 มิ.ย. 2564 และ 4. กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ประมาณ 6% ของยอดหนี้