“ซีไอเอ็มบี-แม็คโคร-เสริมสุข” ติดโผ 23 บจ. กระจายหุ้นรายย่อยไม่ครบ

ภาพประกอบข่าวนักลงทุน-รายย่อย
Photo by Charles Deluvio on Unsplash

ตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงาน 23 รายชื่อบริษัทฯ ฟรีโฟลตต่ำ กระจายหุ้นรายย่อยไม่ครบต่อเนื่อง 2 ปี ‘ซีไอเอ็มบีไทย-แม็คโคร-เสริมสุข’ ติดโผ นักวิเคราะห์เตือนหากไม่แก้ไขอาจถูกปรับ-เพิกถอนออกจากตลาดหุ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลบนเว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 23 บริษัท ที่มีคุณสมบัติด้านการกระจายการถือหุ้นของผู้ลงทุนรายย่อยไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ขึ้นไป โดยหนึ่งในรายชื่อมีหุ้นของ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) บมจ.เสริมสุข (SSC) และบมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) อยู่ด้วย ดังนี้

ภาพประกอบข่าว บจ.ที่กระจายหุ้นให้รายย่อยไม่ครบถ้วน

ด้านนักวิเคราะห์ นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า เกณฑ์ดังกล่าวสะท้อนว่าบริษัทจดทะเบียนมีปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ไม่ถึงเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเอาไว้ อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถขอผ่อนผันได้ แต่ต้องมีเหตุผลที่เข้าใจได้ หรือจะต้องจ่ายค่าปรับ เป็นต้น โดยชี้ว่าเกณฑ์ Free Float จะไม่ส่งผลต่อการเพิกถอนหุ้นออกจากตลากหลักทรัพย์ฯ

ขณะที่ผลกระทบต่อหุ้นในอดีตที่ผ่านมา อาทิ กรณีของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)  (DELTA) บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) หรือ บมจ.วีจีไอ (VGI) การที่มีระดับ Free Float ต่ำกว่าเกณฑ์จะส่งผลให้บริษัทไม่สามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 หรือ SET100 ได้ แม้เกณฑ์การเข้าคำนวณอื่นๆ จะครบถ้วนก็ตาม

“หุ้นที่ติด Free Float ส่วนใหญ่เพราะสภาพคล่องน้อย ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยไม่สามารถเข้าไปซื้อขายเปลี่ยนมือได้มากนัก ซึ่งอาจเกิดจากผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัทถือหุ้นเพื่อรับปันผล ไม่มีการขายหุ้นออกมา เป็นต้น” นายณัฐพล กล่าว

ขณะที่ นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า หุ้นที่มี Free Float ต่ำจะต้องดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลา 2 ปี ไม่เช่นนั้นบริษัทจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับที่ไม่สามารถทำตามเกณฑ์ได้ อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย และสามารถขอผ่อนผันได้เป็นรายกรณี


ส่วนความเสี่ยงที่อาจถูกเพิกถอน นายอภิชาต กล่าวว่า สำหรับบริษัทที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและไม่สามารถแก้ไขปัญหา Free Float ได้ อาจส่งผลต่อแรงจูงใจในการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอาจส่งผลให้พิจารณาเพิกถอนตนเองจากตลาดหุ้นในที่สุด