“ซันสวีท” ไตรมาส 3 รายได้พุ่ง 46% เปิดตลาดใหม่-ขายออนไลน์สู้ “โควิด”

บมจ.ซันสวีท เปิดผลประกอบการไตรมาส 3 โตไม่หยุด รายได้พุ่ง 749 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 46 % จากการเจาะฐานลูกค้าใหม่ในแถบประเทศภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และ อเมริกาที่มีกำลังซื้อสูง ทุ่มงบอีก 100 ล้านบาท เดินหน้าแตกไลน์สินค้ากลุ่ม Ready to Eat คาดสามารถสร้างยอดขายแตะ 1 พันล้านบาทภายใน 5 ปี ชี้เทรนด์สินค้าพร้อมรับประทานยังเติบโตไม่หยุด

ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานภายใต้ตราสินค้า KC เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2563 บริษัทฯมีอัตราการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้รวม 749 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าเพิ่มขึ้น 234 ล้านบาท หรือราว 46 % ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85 ล้านบาท คิดเป็น 8,925% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้ในไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นมาจากหลายส่วน กล่าวคือ รายได้จากการขายที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง44% เนื่องจากบริษัทฯได้มีการขยายตลาดใหม่ๆไปในแถบประเทศภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยมียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจากลูกค้ารายใหม่ในประเทศกลุ่มนี้ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าจากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทว่า บริษัทฯยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศได้ โดยใช้ช่องทางติดต่อลูกค้าผ่านระบบออนไลน์

ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงจากผลผลิตที่มากขึ้น เนื่องจากเครื่องจักรสามารถเดินได้เต็มกำลังการผลิต ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมถึงอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายก็ลดลง โดยมีอัตรา 8.5% ในไตรมาส 3/2563 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตรา10%

ขณะเดียวกันบริษัทฯได้ใช้เครื่องมือทางการเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงยอดขายภายในประเทศที่มีสัดส่วน 20% ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกลุ่มสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) อาทิ ข้าวโพดหวาน มันหวานญี่ปุ่นเผา มันม่วงเผา ถั่วลายเสือต้ม ธัญพืชพร้อมทาน วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งมีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยการขายผ่านช่องทางออนไลน์และตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้บริษัทกำลังเพิ่มสินค้าในกลุ่มนี้อีก 1-2 ประเภทภายในปีนี้ ล่าสุดเตรียมออกผลิตภัณฑ์ไอศกรีมข้าวโพดหวานรสต่าง ๆ ทั้งแบบถ้วยและแท่ง โดยนำร่องจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และ มีแผนจะขยายผลิตภัณฑ์ไปยังร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ คาดว่ายอดขายจากกลุ่มสินค้าพร้อมทานทั้งหมดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 300 % จากปี 2562

ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมข้าวโพดหวาน
ไอศกรีมข้าวโพดหวาน

“บริษัทมองเห็นโอกาสของกลุ่มสินค้าพร้อมทาน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง จึงเพิ่มการลงทุนและขยายกำลังการผลิต โดยจะใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิตส่วนผลิตภัณฑ์พร้อมทานตามความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น คาดว่าผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้จะสามารถสร้างยอดขาย 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี โดยสามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 2 ปี2564” ดร.องอาจกล่าว

สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (2563) บริษัทฯมีรายได้รวมทั้งสิ้น1,982 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 577 ล้านบาท คิดเป็น 41 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีกำไรสุทธิ 153 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 186 ล้านบาท คิดเป็น 568% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 นี้ บริษัทฯคาดว่า รายได้จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 10-15% โดยคาดการณ์จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่น่าจะสามารถผลิตข้าวโพดหวานได้มากกว่า 150,000 ตันต่อปี ในปีนี้ ซึ่งเติบโตจากปีก่อนที่ 120,000 ตันต่อปี เนื่องจากบริษัทได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เพื่อให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพและควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบได้ดี อีกทั้งยังสามารถขยายตลาดไปกลุ่มลูกค้ายุโรปมากขึ้น รวมทั้งผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดีในสินค้ากลุ่มพร้อมรับประทาน