ก.ล.ต. นัดถก บลจ.ขยายออกกองทุนรวม ESG กระตุ้น “รายย่อย” โฟกัส “ผลกำไร” สู่ “ความยั่งยืน”

รื่นวดี สุวรรณมงคล
รื่นวดี สุวรรณมงคล

สำนักงาน ก.ล.ต.เล็งนัดถก บลจ.ปีหน้า ขับเคลื่อนขยายออกกองทุนรวม ESG มากขึ้น แย้มให้แรงจูงใจนักลงทุน พร้อมผลักดัน “นักลงทุนรายย่อย” หันโฟกัส “ผลกำไร” มุ่งสู่ “ความยั่งยืน” เผยปีนี้ผลตอบแทนดัชนีความยั่งยืน “SETTHSI-DJSI” เทียบ SET50 ปรับตัวน้อยลงกว่า 0.84-2.55% “รื่นวดี” ปลื้ม! 12 บริษัทแห่ออก “Green Bond-Social Bond-Social Impact Bond” มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปีหน้า(2564) สำนักงาน ก.ล.ต.มีแผนจะขับเคลื่อนให้นักลงทุนรายย่อยให้ความสำคัญต่อข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ

โดยเบื้องต้นจะเข้าไปหารือกับทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อสนับสนุนให้ออกกองทุนรวมประเภท ESG Funds มากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จะเข้าร่วมศึกษาขอบเขตเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้จะมีแรงจูงใจอะไรให้แก่นักลงทุนรายย่อยหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกัน แต่เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้นักลงทุนรายย่อยมอง “ผลกำไร” ไปสู่ “ความยั่งยืน” ได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้หากพิจารณา “ผลตอบแทน” ของดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน(SETTHSI) กับดัชนีของหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 50 อันดับแรก(SET50) ในตลาดหุ้นไทย(SET) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน(ม.ค.-16 พ.ย.63)

พบว่า ผลตอบแทนดัชนี SETTHSI ติดลบที่ 15.26% ขณะที่ SET50 ติดลบ 17.81% เป็นการปรับตัวลงน้อยกว่า 2.55% เช่นเดียวกับผลตอบแทนของบริษัทจดทะเบียนไทย 21 บริษัทในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ที่ติดลบ 16.97% ปรับตัวลงน้อยกว่าผลตอบแทน SET50 ราว 0.84%

โดยปัจจุบันแนวทางการเงินทื่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างมาก โดยมีผลิตภัณฑ์ประเภทตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น (Social Bond) และการลงทุนของภาคเอกชนในพันธบัตร เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาสังคมแทนกิจการเชิงพาณิชย์ (Social Impact Bond)

ซึ่งในระบบมีบริษัทออกตราสารประเภทนี้ไปแล้วทั้งหมดรวม 12 บริษัท มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท อาทิ การเคหะแห่งชาติ, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), กระทรวงการคลัง เป็นต้น

ทั้งนี้จากการศึกษาในต่างประเทศอยากสนับสนุนให้มีการออก Social Impact Bond เพื่อนำรายได้มาช่วยผู้พ้นโทษด้วย

“สิ่งที่ ก.ล.ต.ช่วยเหลือในเรื่อง ESG คือยกเว้นค่าธรรมเนียมการออก ESG related Bond ทั้งหมดไปจนถึง พ.ค. 2564 แต่จะยกเว้นค่าฟีให้ถาวรหรือไม่นั้น ถ้าเป็นสิ่งจำเป็นก็ยินดี แต่เบื้องต้นคงต้องพิจารณาเป็นเฟสๆ ในแต่ละปีไปก่อน” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

ทั้งนี้หากประเมินภาพรวมการขับเคลื่อน ESG ของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก จากผลสำรวจหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน 32 แห่ง และภาคเอกชนมากกว่า 130 รายทั่วโลก มอง 4 เรื่องหลักคือ 1.บทบาทด้าน ESG ของหน่วยกำกับดูแล ต้องเน้นความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่ยั่งยืนจำนวน 83% การป้องกัน Greenwashing 45% และการกำหนดความเสี่ยงด้าน ESG เป็นความเสี่ยงทางการเงิน 41%

2.รูปแบบการดำนเนินการ ใช้ solf–laws tools ควบคู่การออกหลักเกณฑ์ผ่าน “คู่มือ” สัดส่วน 34%

3.การเปิดเผยข้อมูล ESG เกือบ 1/3 ใช้รูปแบบการเปิดเผย Comply or Explain ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ

และ 4.ความคาดหวังของภาคเอกชน หน่วยงานกำกับต้องส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลที่เปรียบเทียบกันได้ (จำเป็นมากที่สุด) และการป้องกัน Greenwashing (จำเป็นรองลงมา)

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูล ESG เป็นประโยชน์กับนักลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้ลงทุนพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป