ยอดซื้อกองทุน Life Settlement ทะลุพันล้าน นักลงทุนหนีความผันผวน

ภาพประกอบข่าวกองทุนประกัน
Photo by Kendal on Unsplash

บลจ.วรรณ เผยกระแสตอบรับ “กองทุนทางเลือก ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์” ลงทุนกรมธรรม์ประกันชีวิตในสหรัฐ ยอดจองซื้อทะลุ 1 พันล้านบาท ชูจุดแข็งกองทุนหลบความผันผวนเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับการตอบรับที่ดีมากหลังเปิดเสนอขายกองทุนทางเลือก กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ONE-LS-UI) โดยสามารถสร้างมูลค่ากองทุนหลังปิดเสนอขาย IPO ได้ประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งปิดเสนอขายไปเมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยกองทุนนี้จะเน้นการลงทุนจากการเข้าซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา (โดยทั่วไปเรียกว่า Life Settlement) ที่ออกโดยบริษัทประกันชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นการจัดพอร์ตการลงทุนทางเลือกที่ไม่อิงต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้น

สำหรับภาพรวมการลงทุนสัปดาห์นี้ คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง ประกอบกับรัฐบาลและธนาคารกลางในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาจสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นได้ ส่งผลให้นักลงทุนอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) มากขึ้น เป็นแรงหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ ตาม บลจ.วรรณ ยังคงติดตามความเสี่ยงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/63 ซึ่งการแพร่ระบาดเริ่มรุนแรงขึ้นและหลายเมืองเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

ส่วนแนวโน้มการลงทุนถัดจากนี้ ภายหลังมีข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ทำให้ตลาดมีความคาดหวังการกลับสู่ภาวะปกติ และเคลื่อนย้ายเงินลงทุนทั้งในแง่ภูมิภาคและอุตสาหกรรมเข้าสู่หุ้นกลุ่มเศรษฐกิจแบบเก่า (Old Economy) เช่น ธนาคาร พลังงาน เนื่องจากราคาปรับตัวลดลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าลงทุนระยะยาว แม้ว่ามุมมองด้านการเติบโตของกำไรยังไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Economy) อาทิ เทคโนโลยี และสินค้าฟุ่มเฟือย

“ระยะสั้นหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการล็อกดาวน์มีแนวโน้มถูกขายทำกำไร แต่ในระยะกลางถึงยาว บลจ.วรรณ ยังเชื่อมั่นว่าหุ้นกลุ่ม New Economy ที่อยู่ภายใต้กองทุนหลัก Baillie Gifford LTGG เช่น ONE-UGG, ONE-DISC หรือแม้แต่หุ้นในกลุ่ม  e-Commerce, Social media, platform, Food Delivery เช่น ONE-GECOM  หรือ ONE-ALLCHINA ยังเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั่วโลก จากลักษณะเด่นสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ และยังหาผู้ทดแทนในอนาคตได้ยาก” นายพจน์ กล่าว

นายพจน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ บริษัทฯ มองกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในกรอบ 1,380 – 1,450 จุด โดยเริ่มเห็นกระแสเงินลงทุน (Fund Flows) ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Markets) และไหลกลับเข้าตลาดไทยสูงขึ้น สะท้อนผ่านปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาจากการเก็งกำไรรับข่าวความคืบหน้าวัคซีนของบริษัทผู้พัฒนาต่างๆ ทั่วโลก ประกอบกับสถานะการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต (ราว 26%)


อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้าตลาดหุ้นไทยยังคงต้องเผชิญความท้าท้ายในเชิงปัจจัยพื้นฐาน โดยอาจจะต้องรอจนกระทั่งถึงวัคซีนใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย ซึ่งคาดว่าประมาณกลางปีหน้า ถึงจะพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาจำนวนมากอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นอาจระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นไทยบ้าง ทั้งนี้ หากดัชนีปรับตัวลดลงมาแตะระดับแนวรับ แนะนำ ทยอยสะสมได้ ในส่วนของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ แนะนำกระจายพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ