กรุงศรีฯ ปรับจีดีพีปีหน้าโต 3.3% อานิสงส์ต่างชาติฟื้นดันส่งออก

ส่งออก
แฟ้มภาพ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับจีดีพีปี 64 ฟื้นตัวดีขึ้นเป็น 3.3% จาก 2.9% อานิสงส์ต่างประเทศฟื้น ดันภาคการส่งออก-การลงทุนภาครัฐแรงขับเคลื่อนหลัก แนะไทยใช้ประโยชน์จากความร่วมมือ RCEP หนุนจีดีพีไทยใน 10 ปีข้างหน้าโต 2.4% ย้ำการเมืองกระทบจีดีพี 0.6-1.1% เชื่อไม่รุนแรงแต่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ 3.3% จากเดิมมองอยู่ที่ 2.9% และปรับจีดีพีปี 2563 จาก -10.3% มาอยู่ที่ -6.4% เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 และจะมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 ปีหน้า

โดยส่วนใหญ่จะมาจากอุปสงค์ภายนอกต่างประเทศมากว่าในประเทศ และการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 10.5% ในปีหน้าจะเป็นตัวผลักดันภาคการบริโภคขยายตัว 2.5% จากปีนี้ -1.1% และการลงทุนในประเทศโต 3.2% จาก -11% ในปีนี้

สมประวิณ มันประเสริฐ

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการฟื้นตัวในปี 2564 ธนาคารมองว่าการส่งออกจะเป็น Growth Enging ใหม่ของระบบเศรษฐกิจตามการฟื้นตัวจากต่างประเทศ แม้ว่าปีนี้จะ -7.5% และทยอยฟื้นตัวในปีหน้าเป็นบวก 4.5% เพราะดีมานด์ในต่างประเทศจะมีมากขึ้น ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดพบว่าการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นทุกหมวดสินค้า

นอกจากนี้ การประสานความร่วมมือภายใต้ RCEP จะเป็นโอกาสของไทยและจะเป็น Growth Enging ใหม่ของไทยต่อไป เนื่องจาก RCEP จะเป็นจุดเชื่อมโยงทั้งการค้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิต ซึ่งหากดูผลวิจัยจะพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ได้ประโยชน์จาก RCEP

เนื่องจากไทยอยู่ตรงกลางห่วงโซ่การผลิต โดยมีการประเมินว่า RCEP จะสร้างการเติบโตต่อจีดีพีประมาณ 2.4% ให้ไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ไทยจะทำอย่างไรที่จะเชื่อมไปสู่อาเซียนและดึงการลงทุนเข้ามา แต่ไทยอาจจะต้องมีการปรับเกณฑ์กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็น Soft Infrastructure หลังจากไทยสร้าง Hard Infrastructure ไว้ค่อนข้างพร้อมแล้ว

“ทิศทางในปี 64 เรากำลังเดินไปหาแสงสว่าง แต่เรากำลังยืนในที่มืด ซึ่งพอเราเดินไปในแสงสว่างเราไม่รู้หลังจากนั้นจะเจออะไร จะเจอหิมะหรือทะเล ดังนั้น โอกาสในอนาคตกุญแจสำคัญการขับเคลื่อน 10 ปีข้างหน้า คือ การเชื่อมโยงกับภูมิภาคไม่ใช่เรื่องของการค้าขาย แต่ยังเป็นการจ้างงาน เพราะเราไม่สามารถผลิตและขายคนเดียวได้ เราจึงต้องหาโอกาสและทำให้ดีและให้ถูก”

นายสมประวิณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น ธนาคารได้รวมปัจจัยนี้เข้าไปอยู่ในการคาดการการเติบโตเศรษฐกิจที่อยู่ 3.3% เนื่องจากประเมินว่าการเมืองจะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 0.6-1.1% ของจีดีพี เนื่องจากย้อนดูเหตุการณ์ในช่วงที่มีความสุ่ยวายทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าส่วนใหญ่จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งในปีนี้การท่องเที่ยวไม่น่าจะดี ทำให้ผลกระทบส่วนนี้หายไป แต่ยังคงมีเรื่องของความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ถูกกระทบได้

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว จะเป็นดัชนีชี้วัดเดียวที่ยังไม่มีหวัง โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 อยู่ที่ 4 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน ส่วนหนึ่งมาจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาไตรมาสที่ 1 แต่ในปีหน้ายังไม่มี และคาดว่าวัคซีนจะเกิดขึ้นได้ในกลางปีหน้า และยังต้องใช้เวลาในการแจกจ่ายทั่วถึง รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลา

“เรามองว่ามาตรการที่ยังต้องช่วยเหลือต่อเนื่อง จะมีอยู่ 4 เรื่องหลัก คือ 1.การปรับโครงสร้างหนี้ เพราะจะทำให้กลไกระบบการเงินขับเคลื่อนได้ 2.การให้สภาพคล่องในระบบที่ยังต้องการแม้ว่าจะทยอยเปิดธุรกิจ 3.การจูงใจให้เกิดการจ้างงาน เพื่อให้คนมีกำลังซื้อช่วยหนุนเศรษฐกิจหมุนต่อ


และ 4.มาตรการท่องเที่ยวที่อาจจะต้องทำต่อ อาจจะมาในลักษณะลดภาษี โดยมาตรการวันนี้ไม่ใช่การประคอง แต่ต้องเป็นการกระตุ้น ซึ่งดูจากตัวเลขคนที่มีกำลังสูงมีอยู่ประมาณ 30% ของครัวเรือน แต่มีการใช้จ่ายสัดส่วนถึง 57% ของรายจ่ายทั้งหมด เราจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้มาใช้จ่ายเพื่อช่วยคนอื่นต่อ”