แบงก์พาณิชย์เพิ่มดีกรีปล่อยกู้หนุนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ไทยพาณิชย์

แบงก์ไทยเดินหน้าขับเคลื่อน ESG ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบหนุนธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน “กสิกรไทย” เผยอนุมัติโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท “ไทยพาณิชย์” ชงบอร์ดพิจารณาแผนปล่อยกู้ปี’64 เดินตามยุทธศาสตร์เน้นความยั่งยืนมากขึ้น ฟาก “กรุงศรี” จ่อปล่อยกู้ “SLL” โปรดักต์ใหม่ ชูบริษัทผ่านเกณฑ์ ESG คิดดอกเบี้ยต่ำลง 0.10-0.50%

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อโครงการ (project finance) ที่ผ่านเกณฑ์ ESG แล้วกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกใช้ไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท อาทิ สินเชื่อพลังงานทดแทน ได้แก่ สินเชื่อพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะ เป็นต้น

“ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารปล่อยสินเชื่อ ESG ไปกว่า 6,300 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อรวมที่ 7,730 ล้านบาท โดยเรามองว่าบทบาทของสถาบันการเงิน นอกจากจะทำธุรกิจการเงินแล้ว ยังต้องมี social license ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากสังคม เราต้องแน่ใจว่าเงินทุนที่เราให้ไปจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือเป็นธุรกิจต้องห้าม ฉ้อโกง ยาเสพติด หรือกระทบต่อสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ เราต้องมองถึงพนักงาน ลูกค้า และชุมชนทั้งหมด เพราะในอนาคตคนจะเลือกใช้สินค้าและบริการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่นักลงทุนที่เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับการดูแลเรื่องเหล่านี้” นางสาวขัตติยากล่าว

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการอาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า การสนับสนุนทางการเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์แบงก์ในปี 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาอนุมัติเป้าหมายการดำเนินงาน

โดยในปี 2563 ธนาคารได้ตั้งวงเงิน 2,000 ล้านบาท สนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจรักษ์โลก (SME GO GREEN) เพื่อช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

“ธนาคารได้พิจารณาประเด็นความเสี่ยง ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการพิจารณาสินเชื่อ (credit policy) ซึ่งครอบคลุมลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และบุคคล มีกำหนดสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงภาระหนี้ต่อรายได้ ควบคู่กับความสามารถในการชำระหนี้ (affordability) และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ (living expense) นอกจากพิจารณารายรับและความเสี่ยงด้านเครดิต” นางพิกุลกล่าว

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างจัดทำแผนสนับสนุนด้าน ESG ในปี 2564 โดยยังมุ่งเน้นส่งเสริมด้านนี้อย่างต่อเนื่อง จากที่ในปี 2563 ธนาคารได้เป็นผู้จัดจำหน่าย (underwriter) ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจผ่านโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้ง green bond และ social bond กว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ในเร็ว ๆ นี้ธนาคารจะประกาศความร่วมมือกับภาคธุรกิจในการออกผลิตภัณฑ์ ที่เรียกว่า Sustainability Linked Loan (SLL) หรือสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยบริษัทที่จะขอวงเงิน SLL จะต้องผ่านเกณฑ์ด้าน ESG หากทำได้ตามเงื่อนไขจะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเฉลี่ยราว 0.10-0.50%

“ปีนี้เรื่อง ESG เราทำ 2 อย่างด้วยกัน คือ 1.การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านการให้สินเชื่อ และการลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า และ 2.เน้นโปรดักต์ที่เป็น ESG มากขึ้น จะเห็นว่าแนวโน้ม green bond และ social bond ได้รับความนิยมในตลาดมากขึ้น” นายพูนสิทธิ์กล่าว