เปิดโปงกลโกง คนละครึ่ง หนุ่มจบวิศวะคอมฯ ร่วมวางแผน

คนละครึ่ง-มือถือ1

“ร้านค้าสมปองขายของชำ เปิดมาได้ 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-2 พ.ย.63 โดยทางธนาคารกรุงไทยพบความผิดปกติ ตอนนั้นมีผู้ใช้งานไปแล้วทั้งหมด 800 ราย โดยคาดมีผู้ใช้งานผิดปกติประมาณกว่า 200 ราย โดยก่อนที่รัฐจะสั่งระงับ ทางธนาคารกรุงไทยโอนเงินให้ร้านค้านี้ไปแล้ว 220,000 บาท โดยตอนนี้ได้สอบปากคำไปแล้วทั้งหมด 14 คน (มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดทั้งหมด)”

หลังจากพบการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ผิดปกติ ทั้งในส่วนของร้านค้าและผู้ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 700 ราย จากการตรวจสอบในระบบของธนาคารกรุงไทยและการร้องเรียนของประชาชน กระทั่งทางกระทรวงการคลังได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ทำการตรวจสอบและพบการกระทำผิดจริง จนนำมาสู่การดำเนินคดี “ฉ้อโกง”

โดยวันนี้ (18 ธ.ค. 2563) เวลา 13.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย ร่วมแถลงผลการดำเนินคดีผู้ทุจริตโครงการ “คนละครึ่ง”

ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบความผิดปกติในการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ ซึ่งมีรูปแบบการกระทำความผิดอยู่ 2 แบบคือ 1.ร้านแลกหรือรับเงินเป็นผู้ดำเนินการ และ 2.มีเจ้ามือเป็นผู้ดำเนินการจำนวนหลายราย

โดยขณะนี้ทางตำรวจได้ดำเนินคดี 1 ราย ผู้ต้องหา 4 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์เป็นแบบเจ้ามือ โดยใช้เฟซบุ๊กชื่อ “สาวิตา รักชีพชอบ” โฆษณาชักชวนให้ประชาชนที่ร่วมโครงการฯ มาแลกรับเงินจากเจ้ามือ โดยไม่ต้องมีการซื้อสินค้า

ทั้งนี้ทาง พล.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รายงานขั้นตอนการกระทำผิดของผู้ต้องหา ซึ่งระบุว่า จากการตรวจสอบพบธุรกรรมต้องสงสัยมีการสแกนใช้สิทธิ์กับร้านขายของชำแห่งหนึ่งในเขต จ.สมุทรสาคร ชื่อร้าน “ร้านค้าสมปองขายของชำ”

โดยประชาชนหลายรายมีภูมิลำเนาและที่อยู่ปัจจุบันห่างไกลจากร้านค้าดังกล่าวมาก บางรายอยู่ จ.เชียงใหม่, จ.สงขลา เป็นต้น แต่กลับมีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับ แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ของร้านค้าดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร โดยประชาชนได้รับโอนเงินส่วนต่างจากเจ้ามือ จำนวน 80-100 บาท ต่อการทำธุรกรรมใช้จ่ายผ่านร้านดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 9 ธ.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย
ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าขายของชำที่ ต.คอกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พบ นางสาวสมปอง (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี แสดงตนเป็นเจ้าของร้านขายของชำดังกล่าว และพบนายสรัล (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี บุตรชายเจ้าของร้านดังกล่าว

ซึ่งจากการตรวจสอบพบ 1.โทรศัพท์มือถือที่ใช้ในระบบ G Wallet จำนวน 5 เครื่อง 2.แท็บเล็ต iPad จำนวน 1 เครื่อง 3.คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก จำนวน 1 เครื่อง และ 4.บัญชีเงินฝากธนาคาร 6 เล่ม จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลางในคดี และจากการสอบสวนปากคำ น.ส.สมปองฯ เจ้าของร้าน การดำเนินการทั้งหมด นายสรัลฯ บุตรชายเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้ความรู้ความสามารถจากการเรียนจบภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

โดยนายสรัลฯ ให้การยอมรับว่าได้ตกลงร่วมมือกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “สาวิตา รักชีพชอบ” และใช้ไลน์ชื่อ Jeerapot ในการติดต่อ และเมื่อได้รับเงินจากรัฐบาล ได้โอนเงินคืนให้กับเจ้ามือ ผ่านบัญชีธนาคาร ชื่อ นายจีรพจน์ (ขอสงวนนามสกุล) โดยทางร้านค้าจะได้ผลประโยชน์ 30 บาทต่อราย ส่วนผู้ใช้ไลน์ชื่อ Jeerapot ได้ 30 บาทต่อราย และคนที่มาขายสิทธิ์จะได้เงิน รายละ 90 บาท

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่สอบสวนปากคำประชาชนที่ใช้สิทธิ์ผ่านร้านค้าดังกล่าวจำนวน 14 จุด ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น จ.ลพบุรี, ชลบุรี, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, เชียงใหม่, สงขลา เป็นต้น และจากการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตลอดจนการวิเคราะห์เส้นทางการเงินในคดี ทำให้ทราบว่า เจ้ามือ หรือ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ “สาวิตา รักชีพชอบ” คือ นายจีรพจน์ (ขอสงวนนามสกุล) และ นางกนกภรณ์ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นสามีภรรยากัน อยู่ใน จ.ลพบุรี

ต่อมาในวันที่ 17 ธ.ค. 2563 จึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับ น.ส.สมปอง (ขอสงวนนามสกุล), นายสรัล (ขอสงวนนามสกุล), นายจีรพจน์ (ขอสงวนนามสกุล) และ นางกนกภรณ์ (ขอสงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(1) อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

โดย น.ส.สมปองฯ ให้การปฏิเสธ ส่วน นายสรัลฯ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา นายจีรพจน์ฯ ให้การปฏิเสธ โดยให้การว่าไม่รู้เรื่องมาก่อน ส่วนนางกนกภรณ์ฯ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าร่วมกับนายสรัลฯ ซึ่งนางกนกภรณ์ฯ จะเป็นคนหาลูกค้าประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก “สาวิตา รักชีพชอบ” จากนั้นจะนำข้อมูลมาล็อกอินผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” สแกนใช้สิทธิ์ผ่านแอปฯ “ถุงเงิน” ร้านค้าของนายสรัลฯ โดยไม่มีการซื้อขายจริง

“ร้านค้าสมปองขายของชำ เปิดมาได้ 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-2 พ.ย.63 โดยทางธนาคารกรุงไทยพบความผิดปกติ ตอนนั้นมีผู้ใช้งานไปแล้วทั้งหมด 800 ราย โดยคาดมีผู้ใช้งานผิดปกติประมาณกว่า 200 ราย โดยก่อนที่รัฐจะสั่งระงับ ทางธนาคารกรุงไทยโอนเงินให้ร้านค้านี้ไปแล้ว 220,000 บาท โดยตอนนี้ได้สอบปากคำไปแล้วทั้งหมด 14 คน (มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดทั้งหมด)”

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ายังมีกลุ่มที่อาจจะเข้าข่ายกระทำความผิดในลักษณะนี้อีกกว่า 700 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างมีคำสั่งแต่งตั้ง “ชุดปฏิบัติการสืบสวน” เพื่อสนับสนุน ในการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ของบุคคล กลุ่มบุคคล ที่เกี่ยวข้องในภาพรวมก่อนว่ามีผู้ใด หรือมีเครือข่ายใดเกี่ยวข้องบ้าง และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อาจจะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานฯ ซึ่งมีอยู่ในแต่ละจังหวัดไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยจะให้นำแนวทางการสืบสวนไปใช้เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันทางรัฐบาลได้เห็นพฤติกรรมผิดปกติของร้านค้าหลาย ๆ แห่ง และได้ระงับการใช้ถุงเงินของร้านค้าเหล่านั้นไปแล้วเกือบ 200 ราย อย่างไรก็ดี ขณะนี้จากการตรวจสอบยังเห็นพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำผิดในรูปแบบอื่น ๆ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยต้องการสืบร่องรอยผู้กระทำผิดก่อน

ทั้งนี้กระทรวงการคลังอาจจะพิจารณาตั้ง/ปรับเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการของร้านค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังเชื่อว่าร้านค้าส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นร้านค้าที่สุจริต

อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนถึงพี่น้องประชาชนว่า แม้คดีฉ้อโกงฯ จะมีอัตราโทษไม่มาก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี/ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ 100,000 บาท ก็ตาม แต่การกระทำความผิดในแต่ละครั้ง จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ หากมีการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวซ้ำ ๆ หลายครั้ง ก็จะได้รับโทษในแต่ละครั้งในทุก ๆ ครั้ง เมื่อรวมแล้วอาจจะได้รับโทษจำคุก ถึง 10-20 ปี หรือมากกว่านั้น

จึงขออย่าได้เข้าร่วมในการกระทำการทุจริตในโครงการฯดังกล่าว เพราะจะมีการตรวจสอบที่เข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายร้านค้าผู้ประกอบการหรือประชาชน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสของผู้อื่น จึงขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้หลงเชื่อการชักชวนให้กระทำผิดเงื่อนไขโครงการ เพราะทั้งร้านค้าและประชาชนจะถูกตัดสิทธิ์ และจะถูกดำเนินคดีทุกรายซึ่งมีอายุความในการดำเนินคดีถึง 10 ปี

ทั้งนี้หากท่านพบพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ สามารถแจ้งเบาะแสมาที่ [email protected] หรือส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยระบุ รายละเอียดของการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข และข้อมูลสำหรับการติดต่อกลับพร้อมหลักฐาน (หากมี) หรือที่ ตร. ที่เว็บไซต์ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) http://pct.police.go.th/form.php