“เงินฝาก” ท่วมแบงก์ 15 ล้านล้าน “โควิด-19” รอบใหม่ทุบมู้ด-คนไม่กล้ากู้

บัญชีเงินฝากแบงก์

“โควิด” รอบใหม่ส่อดันเงินฝากท่วมแบงก์อีกระลอก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”ประเมินยอดเงินฝากคงค้างปีนี้เพิ่มทะลุ 15 ล้านล้านบาท “ซีไอเอ็มบี ไทย”เผยเริ่มเห็นสัญญาณเงินฝากไหลจากแบงก์ใหญ่เข้าแบงก์เล็ก คาดเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ล้นเกินจากภาวะปล่อยสินเชื่อไม่ออก-คนไม่กล้ากู้เงิน บวกกับผู้ฝากเร่งกระจายความเสี่ยง จากกรณีวงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดเหลือ 1 ล้านบาทในปีนี้ ชี้มีโอกาสเห็นหั่นดอกเบี้ยเงินฝาก “e-Saving”

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 นี้ คาดว่าแนวโน้มเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 1-2 นี้โดยเฉพาะในแบงก์ขนาดใหญ่ และหลังจากนั้นจะทยอยไหลไปสู่แบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อ

“ส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และลูกค้าบางส่วนกังวลที่จะขอสินเชื่อเพิ่ม ส่งผลให้มีแนวโน้มที่เงินฝาก หรือสภาพคล่องจะท่วมระบบแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่”

จากแนวโน้มดังกล่าว แบงก์ขนาดใหญ่มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง เพื่อบริหารสภาพคล่องและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประเภท e-Saving ที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงถึง 1.5% เทียบกับเงินฝากออมทรัพย์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 0.20-0.25% เท่านั้น ขณะที่เงินฝากประจำอาจจะไม่มีการปรับ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

“เริ่มเห็นสัญญาณเงินฝากทยอยไหลเข้ามาแบงก์เรา ส่วนหนึ่งมาจากแบงก์ใหญ่ และผู้ฝากเงินเริ่มกระจายความเสี่ยง เพราะในปีนี้การคุ้มครองเงินฝากจะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อคนต่อสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.เป็นต้นไป รวมถึงถ้าดูผลทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเห็นว่าแบงก์เล็กมีความแข็งแกร่ง ผู้ฝากเงินจึงมีความมั่นใจ ประกอบกับแบงก์ใหญ่ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมาก ทำให้เงินฝากจึงค่อนข้างท่วม ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ย” นายเอกสิทธิ์กล่าว

นายเอกสิทธิ์กล่าวอีกว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้ายอดเงินฝากเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ จากสิ้นปี 2563 ที่มียอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท โดยจะมาจาก 2 ส่วน คือ บัญชีเงินฝาก “ชิลดี” ประมาณ 5,000 ล้านบาท และบัญชีเงินฝากลูกค้ากลุ่ม preferred (กลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝาก 3 ล้านบาทขึ้นไป) จำนวน 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้ายอดการเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ที่ 3 แสนบัญชี จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 7.5 แสนบัญชี โดยจะมาจากการเปิดบัญชีผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร 1 แสนบัญชี และอีก 2 แสนบัญชี จะเป็นการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านพันธมิตรธุรกิจของแบงก์ที่มีอยู่ 2-3 ราย

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารสายงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า ปีนี้เงินฝากในภาพรวมน่าจะเติบโตชะลอลงอยู่ที่ระดับ 3.5-5% โดยจะไม่เห็นธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝาก แต่จะเป็นการรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอ เนื่องจากสภาพคล่องปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูง

โดย ณ สิ้นปี 2563 มีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D) อยู่ที่ 91.6% และคาดว่าในปี 2564 สัดส่วน L/D จะทรงตัวใกล้เคียงกัน

“อย่างไรก็ดี เงินฝากถือเป็นแหล่งพักเงิน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยกระดับขึ้น อาจจะทำให้คนหันมาพักเงินไว้ก่อน เนื่องจากเงินฝากยังคงได้รับดอกเบี้ย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นภาพที่เงินฝากท่วมได้ โดยศูนย์วิจัยฯประเมินยอดคงค้างเงินฝากสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 15.1 ล้านล้านบาท จากปีที่แล้วที่มียอดคงค้างเงินฝากอยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท” นางสาวกาญจนากล่าว

ทั้งนี้ จากสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากของแบงก์ในปี 2564 จะเน้นเงินฝากระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี และเลือกออก ไม่ใช่ออกเพื่อทดแทนเงินฝากรุ่นเดิม

เห็นได้จากภาพแคมเปญเงินฝากในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า มีเงินฝากที่ครบกำหนด 151 ผลิตภัณฑ์ แต่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพียง 113 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งภาพนี้จะเห็นต่อเนื่องมาในปีนี้ เป็นการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร

“เวลาคนตกใจจะฝากเงินไว้ก่อน หากสถานการณ์โควิด-19 มีการยกระดับความรุนแรง ทุกคนจะหลบภัยในเงินฝาก เพื่อรอดูสถานการณ์เพราะอย่างน้อยก็ยังได้ดอกเบี้ย ซึ่งเรามองว่าNIM ปีนี้น่าจะทรงตัวหรือปรับลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้วอยู่ที่ 2.65-2.75%” นางสาวกาญจนากล่าว