เราชนะ ให้สิทธิ์ 7,000 บาท ซื้อสินค้า-บริการ จ่ายงวดแรก 18 ก.พ.นี้

เงิน

ครม.เห็นชอบ “เราชนะ” ให้สิทธิ์ 7,000 บาท ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวน 31.1 ล้านคน ลงทะเบียน29 มกราคมนี้ สามารถซื้อสินค้า-บริการ จ่ายงวดแรก 18 ก.พ.

วันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ “เราชนะ” คนละ 3,500 บาท จำนวน 2 เดือน รวม 7,000 บาท ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวน 31.1 ล้านคน วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท

โดยใช้แหล่งเงินจากงบเงินกู้ วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยเหลือเรื่องรายได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ รัฐบาลได้ประเมินว่าการแพร่ระบาดโควิดคงไม่ได้จบโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีมาตรการเชิงรุกทางสาธารณสุข

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังอนุมัติโครงการ “คนละครึ่ง” จำนวน 1.34 ล้านสิทธิ์ เริ่มลงทะเบียนวันที่ 20 มกราคม 2564 เพื่อช่วยคนที่ยังที่กำลังเงินอยู่ เป็นการให้สิทธิ์ใช้จ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มทั้งหมด ไม่ได้ให้เป็นเงินสด เพื่อให้เงินหมุนในระบบคนตัวเล็ก ให้ทีละสัปดาห์

คุณสมบัติ “เราชนะ”

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
  2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
  3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
  4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
  5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
  6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
  7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

ทั้งนี้ การจ่ายเงินและใช้เงินผ่านแพลตฟอร์มมือถือทั้งหมด เพื่อรับโอนเงินจากรัฐบาล เพื่อลดภาระการต่อคิวเมื่อโครงการเราไม่ทิ้งกัน

นายอาคม กล่าวว่า โครงการเราชนะ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 รอบใหม่ ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะรับจ้าง อาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเกษตรกรด้วย โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะไม่สามารถเบิกเงินสดได้ โดยต้องนำไปใช้ผ่านระบบเพื่อชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม อาหาร และบริการ

ทั้งนี้จะให้ผู้ประกอบการบริการขนส่ง เช่น แท็กซี่ ลงทะเบียนผ่านโครงการเหมือนร้านค้าได้ด้วย ส่วนร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการก็สามารถลงทะเบียนได้ ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 29 มกราคม-31 มีนาคม

นายอาคมกล่าวต่อว่า กลุ่มเป้าหมาย 1.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.กลุ่มประชาชนที่มีฐานข้อมูล แอพลิเคชั่น “เป๋าตังค์” เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่จะมีการกรองคุณสมบัติทั้ง 8 ข้ออีกครั้ง 3.ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลภาครัฐดังกล่าว ต้องลงทะเบียนเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม-12 ก.พ.64

วิธีดำเนินงาน

การใช้สิทธิ์ “เราชนะ” จะใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด เพื่อลดภาระที่ประสบเมื่อปีที่แล้ว ที่มีคิวยาวไปกดเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม วิธีดำเนินงานมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ต้องลงทะเบียน โดยได้รับสิทธิ์ทันที ซึ่งผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับเพิ่มสัปดาห์ละ 675 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 2,700 บาทต่อคนต่อเดือน บาท ส่วนกลุ่มที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท จะได้รับเงินเพิ่มเป็น 700 บาทต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 2,800 ต่อเดือน จะโอนเงินให้สัปดาห์ละครั้ง โอนเงินเข้าครั้งแรก 5 ก.พ. จนกว่าจะครบ 7,000 บาท

2. กลุ่มที่อยู่ใน G-wallet  เช่น ผู้ที่ลงทะเบียนคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน แต่จะต้องกด Consent เพื่อให้รัฐเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเรื่องของรายได้เพิ่มเติม โดยผู้ที่มีสิทธิ์จะต้องมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท โดยเมื่อตรวจสอบแล้วผู้ได้รับสิทธิ์จะได้รับเงินเข้าเป๋าตังเช่นเดียวกัน โดยจะได้เป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท โดยจะเริ่มจ่ายครั้งแรกในวันที่ 18 ก.พ.นี้

3. กลุ่มไม่มีข้อมูลในระบบ เช่น ไม่ได้ลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่ง หรือประชาชนที่ไม่ได้มีฐานข้อมูล จะเปิดให้ลงทะเบียนใน www.เราชนะ.com ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 29 ม.ค. โดยจะโอนเงินช่วยเหลือทุกวันพฤหัสของสัปดาห์ โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกวันที่ 18 ก.พ. เป็นต้นไป

ใช้สิทธิ์ได้ที่…

ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ จะสามารถใช้วงเงินได้ถึงเดือน พฤษภาคมนี้เท่านั้น หากใช้สิทธิ์ไม่หมดไม่มีสิทธิ์ใช้เงินต่อ ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ได้ที่ 3 ประเภท

  1. ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ
  2. ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง
  3. ร้านค้าและผู้ให้บริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเราชนะ

2 แสนล้านหมุนเงินในระบบ ดันจีดีพี 1%

นายอาคม โครงการคนละครึ่งทั้ง 2 ระยะ จะมีเม็ดเงินหมุนอยู่ในระบบเฟสละ 60,000-70,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการเราชนะ วงเงิน 21,200 ล้านบาท ใช้ได้ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีเงินหมุนอยู่ในระบบแน่นอน 200,000 ล้านบาทแน่นอน และจะหมุนแบบทวีคูณ

พร้อมทั้งประมาณการว่าจะมีผลต่อจีดีพี 0.5-0.6 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี รวมกับโครงการคนละครึ่ง รวมแล้วจะเกิดการบริโภคภายในประเทศเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ที่จะได้กลับเข้ามา จะเกิดการหมุนเวียน ขอเรียกว่าเป็นเศรษฐกิจชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเป็นกำลังซื้อที่สำคัญ เพราะดีมานด์ต่างประเทศ คือ การท่องเที่ยว ยังไม่มา

โยกเงินฟื้นฟูเข้ากองเยียวยา 1 หมื่นล้าน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินรวมสำหรับวงเงินเยียวยา ขณะนี้มีจำนวน 206,000 ล้านบาท วงเงินฟื้นฟู 260,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมการกลั่นกรองขออนุมัติ ครม.โยกเงินจากแผนงานด้านการฟื้นฟู จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อใส่ไว้ในแผนเยียวยา รวมแล้วเป็นวงเงินเยียวยาในครั้งนี้ 216,000 ล้านบาท

“ถ้าในอนาคตสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ยังสามารถโยกเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมาใช้เยียวยาได้ตามความจำเป็น เพราะกฎหมายกำหนดให้สามารถทำได้ตามความจำเป็น”