ธุรกิจ 4 กลุ่มฟื้นตัวไม่เท่ากัน กนง. จี้จัดมาตรการช่วยเหลือ

เศรษฐกิจไทย

ธุรกิจ 4 กลุ่มฟื้นตัวไม่เท่ากัน กนง. จี้จัดมาตรการช่วยเหลือ “เหมาะสม-ตรงจุด-เพียงพอ”

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. วันที่ 3 ก.พ. เห็นว่าการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้น จะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และ เพียงพอ

โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ก่อนการระบาดของโควิดระลอกใหม่ กลุ่มธุรกิจที่แย่อยู่แล้ว และ แม้จะคลายมาตรการยังฟื้นช้าจนกว่าจะมีวัคซีนและเปิดประเทศ และ ยังมีปัญหา excess capacity ได้แก่ คอนโดมิเนียมที่โอเวอร์ซัพพลายหรือเน้นลูกค้าต่างชาติ, โรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ และ สายการเงิน กับรถทัวร์ท่องเที่ยว

ขณะที่กลุ่มที่ค่อนข้างแย่อยู่แล้ว แม้รายได้กระทบน้อยแต่ฟื้นช้า ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และ คอนโดมิเนียมที่เน้นลูกค้าคนไทย

ส่วนกลุ่มที่รายได้ลดลงชั่วคราว คาดว่าจะฟื้นตัวได้หลังคลายมาตรการ แต่ฐานะการเงินยังแตกต่างกัน ได้แก่ อาหารแช่แข็งที่ฟื้นจากรอบแรกแล้ว และที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ ก็มีการค้า/พื้นที่ค้าปลีก, ร้านอาหาร, โรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ, รถโดยสารสาธารณะ และ ก่อสร้าง SMEs ที่รับงานเอกชน

สุดท้าย กลุ่มที่รายได้กระทบไม่มาก แต่ฐานะการเงินแตกต่างกัน โดยที่ฟื้นจากรอบแรกแล้ว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิสก์, อุปกรณ์การเแพทย์/ถุงมือยาง, อาหารกระป๋อง, ขนส่งสินค้า, ก่อสร้างรายใหญ่ภาครัฐ/โครงสร้างต่อเนื่องเอกชน ส่วนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ก็มีกลุ่มยานยนต์/ชิ้นส่วน และ ที่อยู่อาศัยแนวราบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานงานระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทางการ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่น ๆเพิ่มเติม เพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต


“ขณะที่มาตรการทางด้านการคลัง ต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับการดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับปรุงรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน” นายทิตนันทิ์กล่าว