น็อนแบงก์ขานรับ “ไกล่เกลี่ยหนี้” ลูกค้า “กรุงศรีฯ” เข้าเกณฑ์ 2.2 แสนบัญชี

บัตรเครดิต บัตรเครดิตกรุงศรี

น็อนแบงก์ขานรับ ธปท.ไกล่เกลี่ย “หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล” “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ประเมินลูกค้าเข้าข่าย 2.2 แสนบัญชี ขณะที่ “อิออน” ขอรอแบงก์ชาติคัดกรองลูกค้าเสร็จก่อน คาดใช้เวลาส่งต่อข้อมูลไม่เกิน 10 วันลั่นพร้อมช่วยลูกหนี้ 3 แนวทาง ด้าน “MTC” เผยลูกค้าเข้าโครงการน้อย เหตุพอร์ตพีโลนของบริษัทไม่ใหญ่

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน“มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์” สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ระหว่างวันที่ 14 ก.พ.-14 เม.ย. 2564 เป็นระยะเวลา 2 เดือนนั้น จากการสำรวจลูกค้าของกรุงศรีฯเบื้องต้นลูกค้าที่น่าจะเข้าข่ายเข้าร่วมโครงการได้มีประมาณ 2.2 แสนบัญชี

ทั้งนี้ ลูกค้าดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้และเข้าโปรแกรมแบ่งเบาการชำระหนี้ โดยผ่อนคืนเฉพาะเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 5 ปีตามเงื่อนไขพิเศษของโครงการ ส่วนกลุ่มลูกค้าสถานะดีค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถเข้าโปรแกรมการรีไฟแนนซ์สินเชื่อได้

“เท่าที่ดูลูกค้าที่คาดว่าน่าจะเข้าข่ายที่เข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้ได้มีอยู่ราว 2.2 แสนบัญชี แต่คงยังไม่สามารถบอกได้ว่าลูกค้าจะเข้าร่วมมากน้อยขนาดไหน เพราะโครงการเพิ่งเริ่มต้องรอให้เห็นภาพชัดเจนก่อน

นอกจากนี้ เราก็มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีลูกหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือ 1.02 แสนราย วงเงินสินเชื่อ 4.79 พันล้านบาท”นางสาวณญาณีกล่าว

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์)กล่าวว่า บริษัทต้องรอการคัดกรองจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนไกล่เกลี่ยหนี้จาก ธปท.ก่อน จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีลูกค้าของอิออนเข้าร่วมโครงการมากน้อยเพียงใด

เนื่องจากเป็นการลงทะเบียนผ่าน ธปท. และกรมบังคับคดี โดยลูกหนี้แต่ละรายมีหนี้แตกต่างกัน และอาจมีเจ้าหนี้หลายสถาบัน ทั้งนี้ คาดว่าธปท.ใช้เวลาคัดกรอง รวบรวมข้อมูลและส่งต่อข้อมูลลูกหนี้ให้บริษัทดำเนินการราว 7-10 วัน โดยเมื่อ ธปท.ส่งต่อข้อมูลลูกหนี้มาให้แล้ว บริษัทจะเร่งดำเนินการตามแนวทางการช่วยเหลือ 3 แนวทางตามที่ประกาศไว้

“มหกรรรมไกล่เกลี่ยหนี้ถือว่าเป็นมาตรการช่วยประคองลูกหนี้ ซึ่ง ธปท.มองว่าเหตุการณ์น่าจะลากยาว และหากไม่ช่วยจะยิ่งทรุดหนัก และกลัวลูกหนี้ติดต่อธนาคาร เจ้าหนี้กลัวไม่ได้รับความช่วยเหลือเต็มที่ จึงอยากเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาและกระชับขั้นตอนโดย ธปท.จะคัดกรองลูกค้าและสรุปข้อมูลมาให้เราอีกที จึงยังไม่รู้ลูกหนี้เรามีเท่าไร เพราะไปกองรวมกันที่นั่นทั้งหมด” นายนันทวัฒน์กล่าว

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า บริษัทได้ให้ความร่วมมือกับ ธปท.ในการเข้าร่วมโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์” ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 เดือน

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าลูกค้าของบริษัทที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยหนี้อาจจะน้อย ล่าสุดเพิ่งมีประมาณ 8 ราย วงเงิน 1.6 แสนบาท เนื่องจากบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างน้อยไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อรวมของทั้งบริษัท ประกอบกับที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตามมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 และ 2 หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว

“ลูกค้าที่เข้าโครงการไกล่เกลี่ยผ่าน ธปท.เราก็พร้อมให้ความช่วยเหลือตามแนวทางที่ ธปท.กำหนด แต่ก็คิดว่าลูกค้าของบริษัทคงเข้าร่วมไม่มากเพราะผลกระทบรอบนี้ไม่ได้รุนแรงมาก รวมถึงตอนโควิดระลอกแรกเราก็ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขคนที่เข้าโครงการมีแค่ 8 ราย ประกอบกับพอร์ตหลักของเราเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ ส่วนสินเชื่อบุคคลไม่มาก มีแค่ราว 1% เท่านั้น” นายชูชาติกล่าว

ก่อนหน้านี้นางธัญญนิตย์ นิยมการผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.กล่าวว่า ธปท.ตั้งเป้าหมายโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” ว่า ในปี 2564 ต้องการไกล่เกลี่ยคดีให้ได้ 1 ใน 4 ของคดีแพ่งที่มีอยู่ 1.3 ล้านคดี หรือคิดเป็นการช่วยเหลือไกล่เกลี่ยราว 3 แสนคดี

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการฟ้องร้องพบว่ามีจำนวนคดี 2 ล้านคดี โดยเป็นคดีแพ่งและพาณิชย์จำนวน 1.3 ล้านคดี ซึ่งในจำนวนคดีดังกล่าวใน 5 อันดับแรกจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต กู้ยืม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่าซื้อรถ เป็นต้น

ทั้งนี้ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” จัดขึ้นโดย ธปท.ร่วมกับศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี และสถาบันการเงิน 21 แห่ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.-14 เม.ย. 2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอล ทั้งอยู่ระหว่างฟ้องร้องและฟ้องร้องแล้ว หรือมีคำพิพากษาแล้ว จะได้รับข้อเสนอ 3 แนวทาง (ดูกราฟิก)

ล่าสุด ธปท.รายงานว่า งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.นั้นมีจำนวนผู้ลงทะเบียน ยอดสะสม จนถึงณ วันที่ 17 ก.พ. 2564 จำนวน 111,534 รายคิดเป็น 237,733 บัญชี