เอฟเฟ็กต์โควิดทุบรายได้ “เซเว่น” วูบ 3 หมื่นล้าน ฉุดกำไร CPALL ร่วง 27.9%

ร้านเซเว่น

เอฟเฟ็กต์โควิด ทุบรายได้ 7-Eleven หายวูบ 3.3 หมื่นล้านบาท ฉุดกำไร “CPALL” ปี’63 ร่วง 27.9% เหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท ฟากธุรกิจ “แม็คโคร-ธุรกิจอื่น” เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้น เผยงบลงทุนธุรกิจร้านสะดวกซื้อปี’ 64 วงเงินรวม 11,500-12,000 ล้านบาท

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงิน บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯถึงผลการดำเนินงานปี 2563 โดยบริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 16,102 ล้านบาท ลดลง 27.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการดําเนินงานได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงการมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการถือปฎิบัติตาม TFRS16

โดยมีรายได้รวม 546,590 ล้านบาท ลดลง 4.3% ทั้งนี้รายได้จากการขายสินค้าและบริการ มีจำนวน 525,884 ล้านบาท ลดลง 4.5% โดยธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงผลกระทบจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด ทำให้จำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยที่ลดน้อยลง

ปี 2563 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ(7-Eleven) มีรายได้รวม 300,705 ล้าานบาท ลดลง 33,356 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% มีกําไรขั้นต้นจํานวน 83,724 ล้านบาท ลดลง 10,103 ล้านบาท คิดเป็น 10.8% โดยมีสัดส่วนกําไรขั้นต้น 27.8% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ 28.1%

มีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทําให้การประหยัดต่อขนาดที่ศูนย์กระจายสินค้าลดลง รวมถึงสัดส่วนของรายได้จากการขายสินค้าที่มีอัตรากําไรขั้นต้นสูงลดลง

ในขณะที่ธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง (แม็คโคร) ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้จากการขายและบริการไว้ได้ในระดับหนึ่ง จากการเติบโตของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย และสาขาในประเทศอินเดียและกัมพูชา

โดยมีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกัน 8,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี

ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นมีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 4,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและมีการบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม ทําให้มีความสามารถในการทํากําไรที่ดีขึ้น

ทั้งนี้รายได้รวมก่อนหักรายการระหว่างกัน แบ่งสัดส่วนตาม 3 ธุรกิจหลักมีดังนี้ กลุ่มที่ 1 รายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วน 55% กลุ่มที่ 2 รายได้จากธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเองมีสัดส่วน 37% และกลุ่มที่ 3 รายได้จากธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทยมีสัดส่วน 8% ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนตามรายได้ที่สูงขึ้น ในขณะที่กลุ่ม 1 มีรายได้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

สำหรับกำไรขั้นต้นในปี 2563 ของ CPALL มีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการ 115,004 ล้านบาท ลดลง 7.9% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้จากการขายของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ในขณะที่ธุรกิจแม็คโครยังสมารถรักษาการเติบโตของกำไรขั้นต้นได้ และจากการลดลงของกำไรขั้นต้นของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในงบการเงินรวมของ CPALL ลดลงเป็น 21.9% จาก 22.7% ในปี 2562

สิ้นปี 2563 ทาง CPALL มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้น(DE) 1.62 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 0.94 เท่า เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก CPALL มีเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในบริษัทร่วม

ทั้งนี้ CPALL มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามข้อกําหนดสิทธิตามภาระหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่ง CPALL ต้องดํารงไว้ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Net Debt to Equity Ratio) โดยคํานวณตามข้อมูลในงบการเงินรวมประจํางวดบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม ไม่เกิน 2:1

อย่างไรก็ดี CPALL คาดการณ์และแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปี 2564 บริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขา คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท

แยกเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500 ล้านบาท โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท

คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ 

CPall-คาดการณ์รายได้