ราคาทองคำลดดีกรีร้อนแรง หลากปัจจัยรุมกดดัน/บอนด์ยีลด์ขาขึ้น

ทองคำ

สารพัดปัจจัยกดดันทองคำ ร้านทองฯ “แม่ทองสุก” ประเมินแนวโน้มราคาปรับขึ้นลงได้ไม่มาก คาดระยะยาวgold spot อยู่ในกรอบ 1,780-1,800 ดอลลาร์ ชี้แรงกดดันสำคัญทั้งนโยบายการเงินสหรัฐ-สัญญาณเงินเฟ้อพุ่ง

จับตา “บิตคอยน์” คู่แข่งใหม่หลังนักลงทุนแห่เก็งกำไร “บล.โกลเบล็ก” เปิดสถิติราคาทองโลกร่วงต่อเนื่อง 15% ส่วนทองในประเทศวูบหนัก 17% หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปีพุ่ง-กองทุนทองคำโลกเทขาย 77 ตันฟาก “ศูนย์วิจัยทองคำ” ยังมองระยะยาวเป็นบวก เชื่อภาวะดอกเบี้ยต่ำ-สหรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนราคาทองไปต่อ

นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ MTS Gold แม่ทองสุก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำต่างประเทศ (gold spot)

ปรับตัวลงหลุด 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ส่งผลให้ทองคำถูกขายทำกำไร เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ

ขณะที่แนวโน้มราคาทองคำในระยะข้างหน้าคาดว่าจะแกว่งออกข้าง (sideway) หรือปรับขึ้นลงได้ไม่มาก เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินระยะข้างหน้า รวมถึงสัญญาณเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเห็นชัดขึ้นในปีนี้ สะท้อนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ปรับขึ้น

“อีกทั้งตอนนี้เงินในระบบเยอะมาก สะท้อนจากที่ไหลไปลงทุนตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ (bitcoin) พุ่งสูงสุดต่อเนื่องมาประมาณ 3 เดือน จะเห็นว่าสภาพเงินเฟ้อสูงมาก คนไม่อยากเก็บเงินสด เงินร้อนก็ออกไปซื้อคริปโทฯ โดยเฉพาะสหรัฐที่เวลาจะอัดฉีดเงินก็พิมพ์เงินออกมาใหม่ได้ทันที” นายณัฐพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ ทองคำและบิตคอยน์มีความแตกต่างกันในแง่ความผันผวนของราคา โดยราคาบิตคอยน์มีความผันผวนมากกว่าทองคำ ซึ่งนักลงทุนจะต้องเข้าใจความเสี่ยงว่าสามารถขาดทุนได้ทันทีหลังเข้าลงทุน อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการปรับขึ้นลงของราคาทั้ง 2 สินทรัพย์เริ่มมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งบิตคอยน์ถือเป็นคู่แข่งของทองคำที่ประมาทไม่ได้

แนวโน้มในระยะถัดไป MTS Gold มองว่า ราคาทองคำจะแกว่ง sideway ระยะสั้นถึงกลาง โดยให้แนวรับ gold spot ที่ 1,770 ดอลลาร์/ออนซ์ และแนวต้านที่ 1,830 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศประเมินแนวรับราว 25,000 บาทต้น ๆ ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 27,000 บาท/บาททองคำ ขณะที่ระยะยาวประเมิน gold spot ในกรอบ 1,780-1,800 ดอลลาร์/ออนซ์

“เรามองว่านักลงทุนอยู่ในโหมดรอดู (wait and see) โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐที่ประธานาธิบดีคนใหม่ นายโจ ไบเดน ยังไม่มีความคืบหน้าในการทำนโยบายอย่างเป็นรูปเป็นร่าง หลังจากเข้ามานั่งตำแหน่งได้ประมาณ 1 เดือน รวมถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และท่าทีของเฟด ฯลฯ” นายณัฐพงศ์กล่าว

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวกลับขึ้นมาเล็กน้อย จากแรงหนุนที่เฟดยืนยันใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่บอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ยังเป็นแรงกดดันต่อราคาทองคำ โดยปรับขึ้นจาก 0.7% มาอยู่ที่ 1.37% ส่งผลให้ต้นทุนในตลาดปรับขึ้นมาเท่าตัว

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากกองทุนทองคำโลก (SPDR Gold Trust) ที่ขายทองคำออกมามากถึง 77 ตันในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 หรือคิดเป็น 30% ของการซื้อสุทธิในปี 2563 ที่ 275 ตัน สะท้อนว่ากองทุนขนาดใหญ่และธนาคารกลางบางประเทศลดสถานะการถือครองทองคำเพื่อทำกำไร

ทั้งนี้ ราคาทองต่างประเทศปรับตัวลงราว 310 ดอลลาร์ จากจุดสูงสุดในเดือน ส.ค. 2563 ที่ 2,070 ดอลลาร์/ออนซ์ มาอยู่ที่ 1,760 ดอลลาร์ ในเดือน ก.พ. 2564 หรือปรับตัวลงประมาณ 15% ส่วนราคาทองคำในประเทศ (ทองคำแท่ง) ปรับตัวลง 5,300 บาท จากจุดสูงสุดในเดือน ส.ค. 2563 ที่ 30,400 บาท มาอยู่ที่ 25,100 บาท ในเดือน ก.พ. 2564 หรือปรับตัวลงประมาณ 17%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า การที่บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้น แล้วมีการขายทองคำกันออกมานั้น เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนออกมา ก็จะถูกเทียบกับการลงทุนที่มีผลตอบแทนชัดเจนเสมอ

ขณะที่เวลาลงทุน นักลงทุนก็จะมีหุ้นเป็นหลักและกระจายไปสินทรัพย์อื่น โดยตราสารหนี้ (บอนด์) และทองจะมีข้อดีเหมือนกันคือ กระจายความเสี่ยงได้ แต่หากยีลด์สูงขึ้น คนก็จะเลือกลดการถือครองทองคำแล้วไปถือบอนด์แทน

“นอกจากนี้ ทองยังเป็นตัวแทนของเงินเฟ้อ ถ้ายีลด์ต่ำก็สนับสนุนเงินเฟ้อ แต่พอยีลด์สูงคนก็จะไปซื้อบอนด์กัน ภาวะแบบนี้คือ เงินเฟ้อก็ขึ้นยาก ทองก็ลำบาก แล้วต่อให้ทองเป็นขาลงอยู่ เจอยีลด์ขึ้นแรง ๆ ทองก็ลงได้อีก”

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำรอบนี้ปรับขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี เมื่อมีความชัดเจนจากข่าวการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 แนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงความหวังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

จึงเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลงในเดือน ก.พ. 2564 นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะราคาบิตคอยน์และตลาดหุ้น ส่งผลกดดันต่อราคาทองมากพอสมควร อย่างไรก็ดี ราคาทองยังมีปัจจัยหนุนจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ

รวมถึงความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หากมีความชัดเจน เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำในการปรับขึ้นในระยะถัดไป

“โดยสรุปเรามองว่าในระยะสั้น การลงทุนในทองคำยังมีปัจจัยลบกดดัน แต่ในระยะกลางถึงยาว การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ โดยเรายังเชื่อว่าที่ระดับ 1,900-1,950 เหรียญ ยังมีโอกาสได้เห็น ส่วนราคาทองคำในประเทศมีโอกาสปรับขึ้นทดสอบ 27,000 บาท”