ศุลกากร ยืดเวลาเว้นเก็บภาษีเรือสำราญ-เรือยอร์ช ออกไปอีก 2 ปี 6 เดือน

กรมศุลกากร ขยายระยะเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีเรือสำราญและเรือยอร์ช ออกไปอีก 2 ปี 6 เดือน เพื่อสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน พร้อมตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญพิกัดอัตราศุลกากรประจำสำนักงาน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากร

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศุลกากร ได้ขยายระยะเวลาการยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากร สำหรับเรือสำราญและเรือยอร์ชที่นำเข้ามากับเจ้าของเป็นการชั่วคราวและนำกลับไป จากเดิม 6 เดือน เป็น 2 ปี 6 เดือน นับจากวันที่นำเข้า โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด และต้องรายงานต่อกรมศุลกากรทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันการนำเรือยอร์ชเข้ามาขายในประเทศไทย โดยไม่เสียภาษี ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ และเสริมสร้างให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน

“การขยายระยะเวลาการยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากรนั้น เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ต้องการดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้าประเทศ เพราะเมื่อมาเที่ยวแล้วก็จะเกิดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายจอดเรือ ค่าน้ำมัน ถือเป็นรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ โดยนับตั้งแต่1ต.ค.2563-8 มี.ค.64 มีเรือสำราญและเรือยอร์ช เข้ามาในประเทศไทยแล้ว 33 ลำ และเชื่อว่าก่อนเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด จำนวนเรือสำราญและเรือยอร์ช คงนำเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก”

นายชัยยุทธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมศุลกากร ได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญพิกัดอัตราศุลกากรประจำสำนักงาน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสงสัยหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจปล่อย และลดภาระผู้ประกอบการการวางประกันสินค้าที่มีปัญหาพิกัด และลดปัญหาโต้แย้ง หากต้องมีการนำเข้าอีกในอนาคต

“การนำเข้าสินค้ามีอัตราภาษีหลายพิกัด หลายรายการ แต่ละกลุ่มก็มีอัตราแตกต่างกัน โดยรายการสินค้าที่มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความมีเพียง 5% ส่วนอีก 95% มีข้อโต้แย้ง ต้องตีความ บางครั้งการตีความของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจปล่อยก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ใช้เวลาในการดำเนินการ และหากผู้นำเข้าต้องการนำสินค้าออกไปก่อน ก็ต้องวางหลักประกัน ซึ่งการวางหลักประกันก็แตกต่างกันอีก ดังนั้นจึงต้องตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือพิจารณา เพื่อความรวดเร็ว และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการด้วย”