บัณฑูร ล่ำซำ : วิกฤตโควิด “รัฐต้องอุ้ม” เศรษฐกิจไทยสอบไม่ผ่านมา 5 ปี

“บัณฑูร ล่ำซำ” หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “คุณปั้น” ในฐานะประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย หลังวางมือจากชีวิตนายแบงก์เมื่อปี 2563 เพื่อไปทำโครงการ “น่านแซนด์บอกซ์” เป็นห้องทดลองป่าต้นน้ำเพื่อการรักษาพื้นที่ป่าในจังหวัดน่านอย่างเต็มตัว

“ประชาชาติธุรกิจ” และสื่อเครือมติชนได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 หลังจากที่โรคระบาดนี้ฝังตัวอยู่บนโลกมากว่า 1 ปีเต็ม

“บัณฑูร ล่ำซำ” กล่าวว่า บทเรียนสำคัญครั้งนี้ คือ “ต้องคำนวณตัวเลขดี ๆ เพราะทุกคนแบมือกันทั้งนั้น” เมื่อครั้งที่พบกับท่านนายกรัฐมนตรี ประเด็นเดียวที่ส่งสารถึงท่านนายกฯก็คือ “อย่าได้ไม่คำนวณ” เพราะทุกคนก็ต้องการขอ (ความช่วยเหลือ) จากนายกฯทั้งสิ้น

“นายกฯก็ต้องให้ แต่ท่านก็ต้องคำนวณให้ชัดว่า ได้คุมภาพรวมของระบบไม่ให้ตกเหว ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีใครคำนวณให้ท่านนายกฯหรือเปล่า นับวันประเทศก็ไต่ไปใกล้ขอบเหวมากขึ้นทุกที ไม่ว่าภาระการคลังต่าง ๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร โลกก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น คือยังไงรัฐบาลก็ต้องอุ้ม”

รวมถึงการให้แบงก์ทำมาตรการ “โกดังพักหนี้” ก็ต้องพักกันไป เพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นหนี้เสีย แต่สิ่งสำคัญคือ ในที่สุดแล้วเศรษฐกิจต้องฟื้น เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นพักไปพักมา ตอนจบก็ต้อง “ฌาปนกิจ”

“ถ้าเศรษฐกิจไม่หมุน คนไม่เดินทาง ไม่ใช้จ่าย นักท่องเที่ยวมาไม่ได้ อะไรก็ยืนไม่อยู่ การพักก็ต้องเป็นการพักชั่วคราว ตอนนี้แบงก์ก็ต้องแบกทั้งนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งแบกไม่ได้ แบกได้ขั้นหนึ่ง เพราะในที่สุดแล้วน้ำต้องมา ถ้าน้ำไม่มา ก็ไม่มีสูตรอะไรที่แก้ปัญหาได้ ก็หวังว่าจะค่อย ๆ มา”

ส่วนที่รัฐบาลคาดหวังว่าปีนี้จีดีพีโต 4% “บัณฑูร” กล่าวว่า รัฐบาลก็ต้องพูดแบบนี้ไปก่อน เพราะตัวเลขจีดีพี 4% คือตัวเลขที่สอบผ่าน แต่ประเทศไทยสอบไม่ผ่านมา 5 ปีแล้ว ไต่มาไม่ถึงสักที สะดุดนั่นสะดุดนี่ เพราะฉะนั้น จะพูดอะไรให้มีความเท่ต้อง 4% ใครจะเชื่อไม่เชื่อ หรือทำได้ทำไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วค่อยไปหวังว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาประเทศไทยเฟื่องฟูเหมือนเดิม ก็ค่อย ๆ ว่ากันไปว่าจะได้มั้ย

แต่ที่ต้องยอมรับ คือ ประเทศไทยภาคสาธารณสุขเข้มแข็ง นี่คือฟ้าประทานมาจริง ๆ คนไทยโชคดีที่เชื่อหมอ ไม่เหมือนต่างประเทศ เรื่องใส่หน้ากาก/ไม่ใส่หน้าหาก กลายเป็นประเด็นการเมืองจนมีคนเสียชีวิตกว่าครึ่งล้าน

และโควิดได้ซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น คนที่อยู่ระดับล่าง ๆ ของสังคมก็เดือดร้อน คนที่มีรายได้ประจำก็มีรายได้น้อยลง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล จะไปปล่อยให้เขาล้มไปต่อหน้าต่อตาไม่ได้ รัฐต้องอุ้มไปก่อนแล้วก็ไปหาวิธีบริหารภาระทางการเงินการคลังของประเทศ

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็พยายามประคอง ผ่านมาตรการต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องมาคำนวณกันว่าการเงินการคลังจะดูแลกันอย่างไรจนกว่าเข้าภาวะปกติ เพราะปัญหาไม่ได้จบในปีเดียว วิกฤตครั้งนี้เป็นบาดแผลที่เจ็บกันทุกคน

ตอนนี้ทุกส่วนก็หวังว่าการมีวัคซีนฉีดกระจายให้ทั่วถึงประชาชนในทั่วโลก จะทำให้เดินทางกันได้ปกติอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศไทยมาก เพราะพึ่งพารายได้จากการเดินทางมาท่องเที่ยวของต่างประเทศ ส่วนจะส่งผลให้เป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่จะบวกได้แค่ไหนอยู่ที่จังหวะของการฟื้นกระแสของการท่องเที่ยวและการจัดการของภาครัฐ