จุดยืนของ ธนาคารกลาง ไม่ได้กังวลต่อเงินเฟ้อ

วัคซีน
Photo by Hauke-Christian Dittrich / POOL / AFP
นั่งคุยกับห้องค้า
พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

ตลาดการเงินโลกอยู่ภายใต้ความกังวลต่อเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมื่อมีแรงสนับสนุนจากการฉีดวัคซีนและมาตรการการคลังของสหรัฐ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำโดยสหรัฐ แต่ธนาคารกลางของโลกที่ส่งสัญญาณช่วงที่ผ่านมากลับไม่ได้ให้น้ำหนักกับความกังวลต่อเงินเฟ้อมากนัก

ธนาคารกลางหลักส่งสัญญาณคล้ายคลึงกันว่ายังต้องการคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป แม้มองเศรษฐกิจสดใสขึ้นกว่าเดิม ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนมีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นคาดการณ์อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) สหรัฐปีนี้จาก 4.5% เป็น 6.5% และยืนยันใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปอย่างน้อยถึงปี 2023 (พ.ศ. 2566) โดยไม่ได้กล่าวถึงการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ ด้านอีซีบีขึ้นคาดการณ์จีดีพี

ยูโรโซนเช่นกัน แต่เตรียมเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์เพื่อชะลอการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศมาตรการช่วยเหลือ ด้านสภาพคล่องของภาคธุรกิจเพิ่มเติม ด้วยการเชื่อมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เข้ากับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของบีโอเจ เน้นซื้อกองทุน ETFs ที่อ้างอิงดัชนีตลาดหุ้น TOPIX เพื่อพยุงราคาหุ้นของบริษัทจำนวนมากขึ้น และขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ญี่ปุ่นอายุ 10 ปีให้กว้างขึ้นจาก 0.20% มาเป็น 0.25%

อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเพียงชั่วคราว ปัจจัยแฝงที่เกิดจากฐานที่ต่ำในปีก่อนซึ่งมีการปิดเมืองเข้มงวดทั่วโลก โดยเฉพาะไตรมาส 2 มีผลให้อัตราเงินเฟ้อและตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกในปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นมาก แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

โดย นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด มองเช่นกันว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงชั่วคราวและไม่มีผลให้เปลี่ยนแนวโน้มนโยบายการเงินในเวลานี้ ประกอบกับในยุโรป ประเทศผู้นำอย่างเยอรมนี และฝรั่งเศส ขยายระยะเวลาปิดเมือง ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ยังคงอ่อนแอ ทำให้เราประเมินว่าธนาคารกลางหลักทั้ง 3 แห่งจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการซื้อสินทรัพย์ไปตลอดทั้งปี

ด้านไทยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงเนื่องจากจำนวนการสั่งซื้อวัคซีนของไทยครอบคลุมเพียงครึ่งหนึ่งของประชากร (ดูภาพประกอบ) ต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน การเริ่มฉีดวัคซีนของไทยค่อนข้างช้าเช่นกัน

โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วคิดเป็นเพียง 0.1 คนต่อประชากร 100 คนเท่านั้น ทำให้ไทยเสี่ยงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในปีนี้ และไม่สามารถกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างปกติในปีนี้ อีกทั้งการใช้จ่ายในประเทศยังพึ่งพาแรงสนับสนุนจากภาครัฐเป็นหลักด้วย และการระบาดของไวรัสรอบใหม่ในไทยยังไม่สิ้นสุดลง

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงอีกด้วย โดยอยู่ที่ 3.0% จาก 3.2% ในประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 3.0 ล้านคนในปีนี้ ต่ำกว่าปีก่อนที่ 6.7 ล้านคน แม้ว่าการส่งออกไทยจะฟื้นตัวและมีมาตรการภาครัฐมาสนับสนุน ทำให้เราประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อยังต่ำใกล้ขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. และทำให้ กนง.ยังคงมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป