ศุลกากร เปิด “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” พ.ค.นี้ ผู้นำเข้าเลือกบริการจัดส่งสินค้าได้เอง

กรมศุลกากร

กรมศุลกากร เตรียมเปิดตัวดิจิทัล แพลตฟอร์มแก้ปัญหาความยุ่งยากขั้นตอนทางศุลกากร พร้อมอำนวยความสะดวกผู้นำเข้าสินค้าแบบบุคคลธรรมดาเลือกบริการจัดส่งสินค้าได้ด้วยตัวเอง     

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์  รองอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้การส่งสินค้าที่ในกล่องพัสดุภัณฑ์มีจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต โดยในแต่ละปีมีการนำเข้าสินค้าโดยบริษัทดำเนินการขนส่งระหว่างประเทศ หรือ บริการขนส่งพัสดุด่วน (Express) ผ่านมายังไปรษณีย์ด่วน ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ประมาณ 38 ล้านกล่อง และนำเข้ามาเองโดยบุคคลธรรมดา 5 ล้านกล่อง ซึ่งพัสดุเหล่านี้จะถูกส่งมาและรวบรวมไว้ที่ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนที่หลักสี่

กรมศุลกากรจึงเตรียมออกดิจิทัล แพลตฟอร์ม ในช่วงเดือนพ..นี้ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเปิดให้บุคคลธรรมดาเข้ามาลงทะเบียนผ่านออนไลน์เพื่อเลือกผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าได้ด้วยตัวเอง เช่น Kerry Express (เคอรี่ เอ็กซ์เพรส) เฟดเอกซ์ (FedEx) เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้นและแก้ไขอุปสรรคยุ่งยากในการดำเนินการตามขั้นตอนทางศุลกากร ซึ่งแต่เดิมเมื่อของมายังที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ผู้นำเข้าจะต้องไปลงทะเบียนที่กรมศุลกากรเพื่อมอบหมายให้ผู้ให้บริการขนส่งออกสินค้าให้

ส่วนกรณีผู้นำเข้าสินค้าต้องจ่ายภาษีนั้น  เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะดำเนินการประเมินภาษีแล้วส่งพัสดุนั้นไปยังไปรษณีย์ปลายทางของผู้รับ  ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องมาติดต่อรับพัสดุที่ทำการไปรษณีย์ปลายทาง และเมื่อชำระภาษีแล้วจึงสามารถรับพัสดุนั้นไปได้

ปัจจุบันตามกฎหมายของกรมศุลกากร สินค้าที่นำเข้ามาที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม  ซึ่งแม้ว่าจะมีกระแสให้ยกเลิกข้อกำหนดนี้เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs) ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันก็ตาม แต่เนื่องจากหลายประเทศในโลกก็มีข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำเช่นกัน ดังนั้นกรมศุลกากร จึงจะหาแนวทางอื่นมาเพื่อช่วยลดผลกระทบให้กับเอสเอ็มอี ภายในประเทศแทน

สำหรับเรื่องระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงาน ภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือ National Single Window (NSW) นั้น ขณะนี้สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ ได้เกือบ 100% แล้ว โดยระบบนี้จะอำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าสินค้าสามารถเช็คได้ว่าสถานะสินค้าได้ ทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการขออนุญาต เช่น ผู้นำเข้าต้องการนำเข้าวัตถุอันตรายซึ่งต้องขออนุญาต 8 หน่วยงาน แต่ถ้ากรอกข้อมูลลงในระบบ NSW คำขออนุญาตจะถูกกระจายส่งไปยังหน่วยงานนั้นโดยไม่ต้องขออนุญาตถึง 8 ครั้ง และยังสามารถเช็คได้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว เป็นต้น