กรุงศรีฯ กำไร Q1/64 ที่ 6.5 พันล้าน หนี้เสียต่ำ 1.99%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทในเครือ เผยผลประกอบการไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิจำนวน 6,505 ล้านบาท เติบโต 92.2% ด้านสินเชื่อรวมโตเพิ่มขึ้น 0.3% หรือจำนวน 6,365 ล้านบาท รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหด 2.9% ส่วสหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำ 1.99%

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1/2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 6,505 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 92.2% หรือจำนวน 3,120 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Management Overlay) ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิลดลง 7.5% หรือจำนวน 528 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

ขณะที่เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 0.3% หรือจำนวน 6,365 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ซึ่งรวมสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโต 1.63% ขณะที่สินเชื่อเพื่อรายย่อยลดลง 1.0% จากการชำระคืนสินเชื่อของลูกค้าตามปัจจัยด้านฤดูกาลและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 2.9% หรือจำนวน 53,959 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากออมทรัพย์

ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.07% เทียบกับ 3.14% ในไตรมาสก่อนหน้า และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลงจำนวน 256 ล้านบาท หรือ 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้ารายย่อยที่สูงขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ จะเห็นว่าด้วยนโยบายการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของกรุงศรีฯ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 43.8% เทียบกับ 46.5% ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.99% เทียบกับ 2.00% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563

และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับสูงที่ 175.0% เทียบกับ 175.1% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร (BIS) อยู่ที่ 17.85% เทียบกับ 17.92% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบระมัดระวังของกรุงศรี ในท่ามกลางสภาวะการณ์ที่ท้าทาย พอร์ตสินเชื่อเพื่อธุรกิจของธนาคารยังคงเติบโตที่ 1.63% ในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนในด้านสภาพคล่องและสินเชื่อให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออก สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าหลักที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งนี้ การกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ กรุงศรีจึงปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มาอยู่ที่ 2.2.% จาก 2.5%”

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนและสภาพแวดล้อมที่ท้าทายสำหรับภาคการธนาคารและเศรษฐกิจไทย กรุงศรีจะยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจในบทบาทสำคัญของผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ โดยมุ่งให้ความสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การช่วยเหลือลูกค้าทั้งในส่วนของลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจขนาดใหญ่ และฟื้นฟูสังคมไทยโดยรวม ทั้งนี้ ธนาคารจะดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและผลิตภาพให้แข็งแกร่ง พร้อมสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่น่าประทับใจต่อไป”

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.84 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.89 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.7 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 276 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.85% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.80%